ในหลวง โปรดเกล้าฯให้เชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลที่ ๙ ประดิษฐานบนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

by ThaiQuote, 2 ธันวาคม 2562

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลที่ ๙ ประดิษฐานเหนือบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562

ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 อันเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้

การนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลที่ ๙ ประดิษฐานเหนือบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ขึ้นในปี พ.ศ.2506 โอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ โดยทรงบรรจุดวงพระชะตาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในองค์พระชัย และทรงประกอบพิธีสมโภชในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2506 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นับเป็นการจัดสร้างพระชัยประจำรัชกาลตรงตามตำรับและพิธีที่มีมาแต่โบราณทุกประการ พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๙ เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ประทับนั่ง ภายใต้ฉัตร 5 ชั้น ขนาดหน้าตักกว้าง 17.50 ซ.ม. สูงเฉพาะองค์พระ 22.50 ซ.ม. สูงจากฐานถึงยอดฉัตร 58.10 ซ.ม. พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวัชราสนะ คือ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา ทรงตาลปัตร และพระหัตถ์ขวาชี้ลงพระธรณีในลักษณะการมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ตรงตามคัมภีร์มหาปุริษลักขณะ พระพักตร์เป็นรูปไข่ผ่าซีกละม้ายศิลปะสุโขทัยที่เรียกว่า “หน้านาง” พระนลาฏกว้าง พระขนงโก่ง พระเนตรมองลงยังเบื้องล่าง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว และพระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสะ

พระเศียรประกอบด้วยเม็ดพระศกเป็นตุ่มขนาดเล็ก พระเกตุมาลาและรัศมีรูปเปลวเพลิง องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์เรียบ ห่มเฉียง มีชายอุตราสงค์พาดบนพระอังสะซ้าย ห้อยยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ อันเป็นพุทธเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย ที่สื่อถึงความสุขความเจริญ อันตรวาสกที่ทรงเรียบไม่มีริ้ว โดยปรากฏขอบที่ข้อพระบาททั้งสองข้าง ตาลปัตรที่ทรงถือมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายรูปใบโพธิ์หล่อด้วยเงินจำหลักลาย พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานปัทม์ ประกอบด้วยกลีบบัวหงายซ้อนกันสามชั้น ชั้นล่างเป็นฐานขาสิงห์อันสื่อถึงฐานของเขาพระสุเมรุ ตามคติความเชื่อแบบไตรภูมิ และฐานเขียงจำหลักคำจารึกภาษาบาลี เบื้องหน้าฐานมีผ้าทิพย์ขนาดใหญ่จำหลักลายลงยาสี ห้อยปกคลุมฐานปัทม์และฐานขาสิงห์ เหนือองค์พระพุทธรูปกางกั้นด้วยฉัตรทองคำฉลุลาย 5 ชั้น อันนับเป็นพุทธลักษณะที่งดงามเป็นที่ยิ่ง

พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๙ จะนำออกประดิษฐานในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและวันเฉลิมพระชนมพรรษา นับเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญ ที่ช่วยอภิบาลพิทักษ์รักษา ตลอดจนประสิทธิประสาทพรให้กับองค์พระมหากษัตริย์และพสกนิกรของพระองค์ตลอดมา

ทั้งนี้กองทัพเรือ โดยคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี จะทำการฝึกซ้อมย่อยครั้งที่ 14 ในวันที่ 4 ธันวาคม ซ้อมใหญ่วันที่ 7 ธันวาคม โดยขบวนเรือจะประดับตกแต่งเหมือนวันจริง กำลังพลฝีพายแต่งกายเหมือนวันจริง และในวันที่ 9 ธันวาคม จะเป็นการซ้อมครั้งสุดท้ายก่อนวันพระราชพิธีขบวนเรือตกแต่งเหมือนวันจริง การแต่งกายชุดฝึกเหมือนวันซ้อมย่อย เริ่มซ้อมเวลา 13.30 น. เนื่องจากระดับน้ำในเวลาดังกล่าว จะเท่ากับในวันพระราชพิธี ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2562

ส่วนการฝึกซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะประทับพระราชยานพุดตานทอง ที่เกยพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ท่าราชวรดิษฐ์ ยาตราโดยริ้วขบวนราบมายัง พระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 4 และจะทำการฝึกซ้อมใหญ่เสมือนจริงในวันที่ 7 ธ.ค.

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ในหลวง-พระราชินี เสด็จออกทรงรับ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส