"บูลลี่ในโรงเรียน"จะไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป

by ThaiQuote, 19 ธันวาคม 2562

จากข่าวที่มีนักเรียนมัธยมปีที่1 ยิงเพื่อนในห้องเดียวกันตาย โดยมีสาเหตุมาจากความรู้สึกเจ็บแค้นและกดดันที่เพื่อนดังกล่าวได้ล้อสภาพทางเพศของเขา ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเสมอมา แต่ไม่ควรนิ่งเฉยได้แล้ว

แฟนเพจ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ถึงกรณี "บูลลี่ในโรงเรียน" โดยระบุว่า การรังแก หรือ กลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bullying) จะไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป โดยแบ่งประเภทของการกลั่นแกล้ง ดังนี้

1. ทางร่างกาย เช่น ชกต่อย การผลัก การตบตี ทางสังคมหรือด้านอารมณ์
2. ทางสังคม หรือ ด้านอารมณ์ เช่น กดดัน ยั่วยุ แบ่งแยก
3. ทางวาจา เช่น ดูถูก นินทา เยาะเย้ย เสียดสี โกหกบิดเบือน
4. ทางไซเบอร์ (Cyberbullying) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หลอกลวง โพสต์ข้อความโจมตี คุกคามทางเพศ

ทั้งนี้ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งนั้นอาจได้รับผลกระทบตามมา โดยเฉพาะเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนอาจจะมีภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ซึ่งอาจส่งผลไปถึงวัยผู้ใหญ่ได้ เช่น ผลกระทบด้านการนอนหลับ การรับประทานอาหาร ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาด้านความรู้สึก ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งอาจมีความรู้สึกโดดเดี่ยว สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยรู้สึกสนุก มีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน และประสิทธิภาพทางการเรียนลดลง

ทางด้านผู้ที่เป็นฝ่ายกลั่นแกล้งผู้อื่นก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เสพติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นๆ มีพฤติกรรมลักขโมยและเรียนไม่จบ มีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร รวมถึงมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับคู่สมรสหรือลูก คนใกล้ตัว และอาจจะเป็นอาชญากรในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม แฟนเพจ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำข้อปฏิบัติเมื่อถูกกลั่นแกล้ง (Bullying) ดังนี้

- ต้องตั้งสติให้รู้ตัวว่ากำลังเจอกับการรังแก
- อย่าให้ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกสนุกจากการตอบสนองของเรา
- อยู่ในที่ปลอดภัย มีเพื่อนเข้าใจอยู่ข้างๆ
- หากการกลั่นแกล้งยังรุนแรงให้พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เข้าใจและรู้วิธีจัดการ
- เดินจากไปอย่างสงบ ไม่ใส่ใจ
- มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นและคุณค่าของเรา
- ไม่เลือกใช้กำลัง เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่ผู้กลั่นแกล้งต้องการ

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
“คลัง” แจงขั้นตอนเก็บ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ” ปี 63