"ไพบูลย์" ขวาง ตั้ง สสร.แก้ รธน.ทั้งฉบับ

by ThaiQuote, 2 มกราคม 2563

"ไพบูลย์" เผยเตรียมเสนอ กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน. ให้ สื่อมวลชนเข้ารับฟังการประชุมได้ และ ค้านการตั้ง สภาร่างรธน.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ควรแก้ไขเป็นรายมาตรา เฉพาะที่เห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหา

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจะมีอีกครั้งในวันที่ 14 ม.ค. และ 17 ม.ค. เนื่องจากจะต้องรอให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณพ.ศ.2563 เสร็จสิ้นในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก่อน ในช่วงเวลาของการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณนั้นทางสภาได้ขอความร่วมมือให้งดการประชุมคณะกรรมาธิการเป็นการชั่วคราว ทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกลับมาประชุมอีกครั้งในเวลาดังกล่าว

สำหรับการประชุมในวันที่ 14 ม.ค.และ17 ม.ค.นั้น จะยังไม่มีการพิจารณาเป็นรายมาตราว่าควรจะแก้ไขในมาตราใด เพราะจะเป็นขั้นตอนการเปิดให้กรรมาธิการวิสามัญฯได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น เพื่อสรุปเป็นสาระสำคัญเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวมีประเด็นที่จะเสนอต่อที่ประชุมในสองส่วนด้วยกัน คือ

1.การเสนอให้สื่อมวลชนเข้ามารับฟังการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อที่จะได้มีการนำเสนอและสะท้อนข้อมูลของคณะกรรมาธิการวิสามัญออกไปได้ทั้งสองด้าน เพื่อให้สังคมได้เห็นว่าใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในประเด็นใดและอย่างไร ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแสดงความคิดเห็นเพียงฝ่ายเดียว โดยส่วนตัวมองว่าเมื่อเวทีคณะกรรมาธิการวิสามัญฯแล้วก็ควรแสดงความคิดเห็นกันอย่างมีเหตุผล ไม่ควรปลุกกระแสให้เกิดความขัดแย้ง แต่ควรนำเหตุผลและข้อมูลมาอภิปรายแลกเปลี่ยนกัน

2.เตรียมเสนอประเด็นและเหตุผลถึงการไม่เห็นด้วยกับการให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) โดยจะนำเสนอในภาพรวมว่าที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง สสร.เพราะขาดความเป็นไปได้ ขาดเหตุผล และขาดความจำเป็น และที่สำคัญจะเป็นการสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการตั้ง สสร. โดยความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรแก้ไขเป็นรายมาตรามากกว่า ซึ่งจะต้องมาจากความคิดเห็นที่ว่ามาตราดังกล่าวมีปัญหาโดยแท้และสังคมยอมรับว่าควรจะต้องมีการแก้ไข โดยเทียบเคียงกับการแก้ไขประมวลกฎหมาย เช่น ประมวลรัษฎากร หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเวลาหนึ่งที่ประมวลกฎหมายดังกล่าวมีปัญหา ฝ่ายบริหารจะเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขเป็นรายมาตรา ไม่ได้มีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับแต่ประการใด

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
เขี่ยส.ว.ผบ.ทบ.ต้องเข้ากมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.