สรุป 7 วันอันตราย ตาย 373 ราย จับเมาแล้วขับกว่า 1.2 หมื่นราย

by ThaiQuote, 3 มกราคม 2563

สรุป 7 วันอันตราย ยอดอุบัติเหตุ 3,421 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 373 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต 6 จว. ขณะ ยอดดำเนินคดีเมาแล้วขับพุ่ง 12,360 คดี อุบล-ขอนแก่น-สารคราม ครองอันดับสูงสุด ถูกดำเนินคดี

นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติทั่วประเทศของวันที่ 2 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่มีการควบคุมเข้มงวด 7 วัน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 มีจำนวน 3,311 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 3,103 คดี คิดเป็นร้อยละ 93.72 คดีขับเสพ จำนวน 205 คดี คิดเป็นร้อยละ 6.19 และคดีขับรถประมาท จำนวน 3 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.09

สำหรับยอดสะสมสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติรวม 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 – 2 มกราคม 2563มีจำนวนทั้งสิ้น 12,360 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 11,997 คดีคิดเป็นร้อยละ 97.06 คดีขับเสพ จำนวน 345 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.79 คดีขับซิ่ง แข่งรถจำนวน 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.01 คดีขับรถประมาท จำนวน 17 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.14. โดยจังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 707 คดี จังหวัดขอนแก่น จำนวน 643 คดี และจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 615 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ สะสมทั้ง 7 วัน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา ปี พ.ศ. 2562 มีจำนวน 8,706 คดี กับปี พ.ศ. 2563 มีจำนวน 11,997 คดี เพิ่มขึ้นถึง 3,291 คดี คิดเป็นร้อยละ 37.80

นอกจากนี้ กรมคุมประพฤติ ยังดำเนินการตรวจสอบประวัติการกระทำผิดในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 7,900 คดี พบมีผู้กระทำผิดซ้ำ จำนวน 277 คดี อย่างไรก็ตาม กรมคุมประพฤติ ยังคงสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น จำนวน 74 จุด มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ผู้ถูกคุมความประพฤติ และประชาชน จำนวน 534 คน เพื่อดูแลประชาชนที่เดินทางกลับจากภูมิลำเนา ซึ่งตลอด 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 กรมคุมประพฤติ ได้ร่วมให้บริการ ดูแลช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางอย่างปลอดภัยตามจุดบริการและด่านต่างๆ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จำนวนทั้งสิ้น 784 จุด โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 6,880 คน

สรุปยอดอุบัติเหตุ-เสียชีวิต 7 วัน 373 ราย

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ประจำวันที่ 2 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 354 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 45 ราย ผู้บาดเจ็บ 359 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ขับรถเร็ว ร้อยละ 30.23 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 23.73

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.97 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 61.30 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.94 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.66 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 28.53

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,029 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,957 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 953,238 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 230,603 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 56,447 ราย ไม่มีใบขับขี่ 51,686 ราย

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สงขลา (21 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา (21 คน)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (27 ธ.ค.62 – 2 ม.ค.63) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,421 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 373 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,499 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด ได้แก่ ตราด พะเยา แม่ฮ่องสอน ยะลา ลำพูน และสตูล จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สงขลา (116 ครั้ง)

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (15 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สงขลา (121 คน) สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.68 ขับรถเร็ว ร้อยละ 29.00 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 56.12 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.49 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.97 รถปิคอัพ ร้อยละ 6.81 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 63.37 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 39.02 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 26.28

นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 พบว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ซึ่งศูนย์ฯ ได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยกำชับให้จังหวัดถอดบทเรียนและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน นำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่