ส่องประวัติ “กรณ์ จาติกวณิช” หลังหลั่งน้ำตาอำลา “ประชาธิปัตย์”

by ThaiQuote, 15 มกราคม 2563

ประวัติ “กรณ์ จาติกวณิช” นักเรียนนอกสืบเชื้อสายผู้ดีเก่า คู่หูสุดซี้ อดีตนายกฯ “มาร์ค” ก้าวสูงสุดสู่ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ควบเจ้ากระทรวงคลัง ก่อนหลั่งน้ำตาอำลา “ประชาธิปัตย์”

เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 14 ม.ค.63 มีประเด็นร้อนในแวดวงการเมืองเกิดขึ้น เมื่อ “กรณ์ จาติกวณิช” ประกาศลาออกกลางงานเลี้ยงปีใหม่ของพรรค โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.63

การประกาศลาออกครั้งนี้ สร้างความตกตะลึงบรรดาสมาชิกพรรคทุกคนเพราะเป็นไปอย่างกะทันหัน และที่ผ่านมานายกรณ์ถือว่าเป็นสมาชิกระดับแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์มานานหลายปี ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับที่ 7 และเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค

 

ประวัติ “กรณ์ จาติกวณิช” สืบเชื้อสายผู้ดีเก่า หลานชายอดีตอธิบดีกรมตำรวจ

สำหรับ “กรณ์ จาติกวณิช” เกิดวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 (56 ปี) ที่ประเทศอังกฤษ มีชื่อเล่นว่า "ดอน" เป็นบุตรคนกลางของ นายไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กับนางรัมภา จาติกวณิช (นามสกุลเดิม พรหโมบล บุตรีพระยาบุเรศผดุงกิจ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ)

สมรสกับวรกร จาติกวณิช (สูตะบุตร) มีบุตรธิดาด้วยกัน คือ กานต์ จาติกวณิช (แจม) และไกรสิริ จาติกวณิช (จอม)

ด้านการศึกษา กรณ์ จาติกวณิช เรียนอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสมถวิล ราชดำริ ประถมศึกษาปีที่ 5-6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก วินเชสเตอร์ คอลเลจ (Winchester College) หลังจากนั้นศึกษาต่อปริญญาตรี สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่ เซนต์จอห์น (St.John's) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) จนสำเร็จการศึกษาได้รับ เกียรตินิยมอันดับ 3

 

 


จากหนุ่มนักเรียนนอก สู่เส้นทางการเมือง

“กรณ์ จาติกวณิช” ช่วงวัยหนุ่มเริ่มงานในตำแหน่งผู้จัดการกองทุน บริษัท S.G. Warburg & Co. ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (พ.ศ. 2528-30) และกลับประเทศไทย ร่วมก่อตั้งและเป็นประธาน บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม จำกัด ด้วยวัยเพียง 24 ปี (พ.ศ. 2531-2535)

ในปี 2535 เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม จำกัด ต่อมาได้ขายหุ้น เจเอฟ ธนาคม ในมือทั้งหมดให้กับ JP Morgan Chase และตัดสินใจรับข้อเสนอเป็นประธาน บริษัทเจพี มอร์แกน ประเทศไทย โดยทำงานในฐานะผู้บริหารมืออาชีพแบบเต็มตัว (พ.ศ. 2544-2548)

จนถึง พ.ศ. 2548 “กรณ์ จาติกวณิช” ลาออกจาก JP Morgan เพื่อเข้าสู่วงการเมืองในวัย 39 ปี จากการชักชวนของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อนนักเรียนเมื่อครั้งเรียนอยู่ที่อังกฤษ โดยชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.เขต 7 กรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ของพรรคประชาธิปัตย์ จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548

 

 


จาก รมต.เงา ผงาดเจ้ากระทรวงคลัง เจ้าโปรเจ็กต์ “เช็คช่วยชาติ”

หลังจากเข้าสู่สนามการเมือง “กรณ์ จาติกวณิช” ใช้เวลาเพียง 3 ปี ก้าวขึ้นสู่แกนนำคนสำคัญของพรรค โดยในวันที่ 15 ก.ค.51 พรรคประชาธิปัตย์ได้ เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดยผลงานเด่นทางการเมืองคือการทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา ในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในปี 2551 จนต่อมาในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับตำแหน่งสำคัญคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับผลงานที่สำคัญในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2552 จำนวน 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ทั้งด้านการขนส่ง/Logistic ด้านทรัพยากรน้ำและการเกษตร ด้านโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยว จำนวน 18,537 ล้านบาท โดยโครงการสำคัญซึ่งเป็นที่จดจำและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางคือ “เช็คช่วยชาติ” โดยการแจกเงิน 2,000 บาท ให้ผู้มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้านการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร กรณ์ จาติกวณิช ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร 2 สมัยติดต่อกัน

ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองของ “กรณ์ จาติกวณิช” คือการลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส.

 

 


โค้งสุดท้าย ก่อนหลั่งน้ำตา อำลา “ประชาธิปัตย์”

ในการเลือกตั้งปี 2562 “กรณ์ จาติกวณิช” เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 7 ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เป็นไปตามเป้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในเวลานั้นประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

หลังการลาออกของนายอภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 นายกรณ์ได้ลงสมัครช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยได้รับการโหวตเป็นอันดับ 3 รองจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ (1) และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (2) ซึ่งนายกรณ์ได้คะแนนเพียง 8.49%

 

 


พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้แต่งตั้ง “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” เป็นแกนทีมอเวนเจอร์เศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจทันสมัย (New Economy) ทั้งนี้ จากที่เคยเป็นหัวเรือคุมงานด้านเศรษฐกิจของพรรคมาก่อนในยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้บทบาทของ “กรณ์ จาติกวณิช” ในพรรคเริ่มลดน้อยลง จนตัดตัดสินใจประกาศลาออกในวันที่ 14 ม.ค.2563 รวมระยะเวลาที่สังกัดในพรรคประชาธิปัตย์นาน 15 ปี โดยให้เหตุผลในการลาออกว่า ต้องการเดินหน้าสร้างทางเลือกทางการเมืองที่คนไทยแสวงหา เป็นการเมืองที่ต้องกล้าคิด กล้าทำ และเป็นการเมืองที่มั่นใจในศักยภาพของคนไทย


ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

กรณ์ เปิดใจลา ปชป. เพื่อสร้างทางเลือกทางการเมืองใหม่ให้คนไทย