4 กุมภาพันธ์ “วันมะเร็งโลก“ รู้และเข้าใจ ห่างไกลมะเร็งร้าย

by ThaiQuote, 4 กุมภาพันธ์ 2563

4 กุมภาพันธ์ “วันมะเร็งโลก“ ปลุกสังคมตื่นตัว-ตระหนักถึงพิษภัย การป้องกัน บรรเทาเจ็บป่วย-เสียชีวิต จากมะเร็งร้าย

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันที่องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล กำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) เพื่อบรรเทาปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง หลังจากพบว่ามะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปถึงปีละประมาณ 7,600,000 คน

“มะเร็ง” มือวางอันดับ 1 คร่าชาวโลก ปลิดชีพคนไทยกว่า 8 หมื่นคนต่อปี

จากสถิติพบว่าในช่วงปี 1990 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 8.1 ล้านคนในแต่ละปี จนเป็น 18.1 ล้านคนต่อปี ในปี 2018 และยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็ง 3 อันดับแรก คือ มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งลำไส้ และคาดการณ์ว่าหากทั่วโลกยังไม่ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ภายในปี 2030 จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งจะมากกว่า 13.1 คนต่อปี

ขณะที่ในประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี พ.ศ. 2561 มีผู้เสียชีวิต 9.6 ล้านราย แต่ละปีมีผู้เสียชีวิต 80,665 คนโดยคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน ปัจจุบันพบผู้ป่วยรายใหม่วันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี

สำหรับในปีนี้ องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นมะเร็งถึง 170,000 คน เสียชีวิตประมาณ 120,000 คน

โดยจะพบในเพศชายมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ส่วนในเพศหญิง มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่

ทั้งนี้สาเหตุหลักๆ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า ความเครียด หรือความผิดปกติทางพันธุกรรม การกินอาหารจำพวกไขมัน ปิ้งย่าง ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงและกระตุ้นทำให้เกิดโรคได้มากขึ้น

รู้ทันป้องกันได้

การรักษาสุขภาพ อยู่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์แล้ว องค์ความรู้หลาย ๆ อย่างก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก อาทิเช่น ในปัจจุบัน เรามี “วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก” (HPV vaccine) ซึ่งสามารถฉีดเพียงชุดเดียว ในช่วงอายุ 9 -44 ปี เพื่อให้มีผลตลอดชีวิต วัคซีนนี้ป้องกันไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 4 สายพันธุ์ นอกจากนี้ก็ยังป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในเพศชายได้อีกด้วย

ความรู้ที่เพิ่มขึ้น ยังทำให้เรารู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากมลพิษและบุหรี่ เราก็ควรเลิกบุหรี่และหลีกเลี่ยงที่มีมลภาวะต่างๆ โดยสวมหน้ากากหรือในมะเร็งผิวหนังก็ควรทาครีมกันแดดป้องกันไว้ เป็นต้น

ดังนั้น หากเราหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค แล้วหันมาใส่ใจดูแลตนเอง หมั่นตรวจสุขภาพ และตรวจคัดกรองหาโรค ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งก็จะลดลงตามไปด้วย


รู้ก่อนรักษาก่อน

ความซับซ้อนของโรคมะเร็ง ทำให้แม้เราจะใส่ใจดูแลสุขภาพเต็มที่ โอกาสที่จะเผชิญกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นตามวัยอยู่ดี และเนื่องจากโรคมะเร็งก็เหมือนโรคอื่น ๆ ที่ยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งรักษาง่าย จึงมีการพัฒนาวิธีตรวจคัดกรองสำหรับมะเร็งที่พบได้บ่อยขึ้นมา การตรวจเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ทั้งยังมีใช้การอย่างแพร่หลาย เพียงแต่มีการกำหนดให้เหมาะกับช่วงวัยยกตัวอย่างเช่น
- การทำแมมโมแกรม เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม สตรีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจและตรวจทุกปีเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป
- การเอกซ์เรย์ปอด เพื่อคัดกรองมะเร็งปอด เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกายประจำปี เนื่องจากคัดกรองวัณโรคปอดได้ด้วย
- การตรวจแปปสเมียร์และเชื้อไวรัส HPV เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจทุก5 ปีในสตรีที่มีอายุ 30 – 65 ปี
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แนะนำให้ตรวจทั้งหญิง-ชายตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป
- การเจาะเลือดวัดค่า PSA เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรเริ่มตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ เราก็ยังควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเองให้ดี หากพบสิ่งผิดปกติ ไม่ว่าจะคลำพบก้อน พบไฝหรือขี้แมลงวันที่โตผิดปกติ หรือการขับถ่ายต่างไปจากเดิม ก็ต้องพบแพทย์โดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม “โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค หากตรวจพบเร็ว และรักษาอย่างถูกต้อง ทันเวลา โอกาสหายจากโรคมะเร็งก็สูงตามไปด้วย

โดยกว่าร้อยละ 40 ของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบันนั้น มีทางป้องกันและรักษาได้ ทำให้จำนวนผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ผลลัพธ์อันน่าทึ่งจากการทุ่มเทศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ เรื่องโรคมะเร็งในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิธีวินิจฉัยโรค ตัวยาที่ใช้ ขั้นตอนการรักษา และการฟื้นฟูร่างกายหลังจากการรักษา ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถอุ่นใจได้ว่า ต่อให้พบว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว ก็ยังรักษาให้หายได้ถ้าเราตั้งใจจริง

สิ่งสำคัญคือ เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อย่าตกใจ ขอให้ตั้งสติและยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น รักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ผู้ป่วยมะเร็งทุกคน เอาชนะโรคมะเร็งได้ด้วยดี ส่วนใครที่ยังไม่เป็น ก็ขอให้ป้องกันตัวเอง อย่าประมาท ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคร้ายนี้

สุดท้ายนี้อาจกล่าวได้ว่า มะเร็งนั้นเป็นภัยร้ายที่คุกคามทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในทวีปใด จะร่ำรวยหรือยากจนแค่ไหน จะเป็นข้าราชการระดับสูงหรือผู้อพยพก็ตาม วันมะเร็งโลกจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ คอยย้ำเตือนว่า หนทางไปสู่การมีสุขภาพที่ดีได้ ก็คือ การร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกัน ตรวจสอบ และรักษาโรคมะเร็งอย่างรวดเร็ว ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ดังคำขวัญประจำวันมะเร็งโลกที่ว่า “I Am and I Will” ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเดินร่วมกันไปสู่วันที่โลกไร้มะเร็งได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พฤติกรรมใด เป็นความเสี่ยง “มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ”

อุทาหรณ์ หมองู โดนจงอางกัด ย่ามใจไม่รีบแก้พิษ สุดท้ายสิ้นใจ

ซุปเปอร์โพล เผยคนไทยมั่นใจหมอรับมือไวรัสโคโรนาได้