จีนโต้ข่าวปลอมไวรัสโคโรนา ลั่น “ซุปค้างคาว-อาวุธชีวภาพ” โกหกทั้งเพ

by ThaiQuote, 6 กุมภาพันธ์ 2563

โกหกทั้งเพ!! จีนออกโรงโต้ข่าวปลอมไวรัสโคโรนา ยัน คลิปสาวซด “ซุปค้างคาว” ไม่ใช่ที่ “อู่ฮั่น” ระบุ ทฤษฎีสมคบคิด “อาวุธชีวภาพ” สุดมั่ว!! เผยรายการวิทยุสหรัฐฯ ปั่นยอดผู้เสียชีวิตหลักแสน-ติดเชื้อหลักล้าน

ช่วงตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา วิกฤติ “ไวรัสโคโรนา” อยู่ในความสนใจของคนทั้งโลก มีการพูดถึงเรื่องของความรุนแรงน่ากลัว มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ตลอดจนต้นตอของเชื้อมรณะว่ามีสาเหตุที่แท้จริงมาอะไร


จากประเด็นดังกล่าว ทำให้ที่ผ่านมามีข้อมูลและรายงานต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางเรื่องมีความน่าสนใจและเกิดประโยชน์สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและป้องกัน ขณะที่บางข้อมูลดูห่างไกลจากข้อเท็จจริง และมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดความตื่นตระหนกจนเกินเหตุ หรือเป็นเฟกนิวส์ที่หวังปั่นกระแสเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง


ขณะที่ล่าสุด “สำนักข่าวซินหัว” ได้นำเสนอบทความที่น่าสนใจ โดยระบุว่า มีข้อมูลและรายงานต่างๆ ที่ผิด เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) กระหน่ำสื่อโซเชียลอย่างไม่ขาดสายนับตั้งแต่ไวรัสฯ แพร่ระบาด อันเป็นการกระพือความหวาดกลัวอันไร้เหตุผลในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

 

 

อย่างไรก็ดี มีสื่อกระแสหลักจำนวนมากที่ออกมารายงานและให้ความกระจ่างต่อข่าวลือเหล่านั้น เพื่อนำเสนอภาพที่แท้จริงของโรคระบาดครั้งนี้แก่สาธารณชนและยุติความตื่นตระหนก โดยในประเด็นต่างๆ สรุปได้ดังนี้

 

คลิปสาวซด “ซุปค้างคาว” ไม่ใช่ที่ “อู่ฮั่น”

ชาวจีนชื่อดังในวงการโซเชียลมีเดียเผยแพร่คลิปวิดีโอแสดงภาพการกิน “ซุปค้างคาว” ซึ่งแพร่ไปตามสื่อออนไลน์จนมีคนกดดูจำนวนมาก หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ในนครอู่ฮั่น ทางตอนกลางของจีน โดยสื่อบางสำนักใช้คลิปดังกล่าวเพื่อเผยแพร่รายงานเท็จ โดยอ้างว่าไวรัสฯ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับซุปค้างคาวที่ปนเปื้อน

 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว “คลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ได้ถ่ายขึ้นที่อู่ฮั่นหรือในจีน” ซึ่งสำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานแย้งกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า คลิปนี้ถ่ายทำโดยหวังเมิ่งอวิ๋น (Wang Mengyun) พิธีกรรายงานท่องเที่ยวและบล็อกเกอร์สาวชื่อดัง ระหว่างท่องเที่ยวที่ปาเลา (Palau) หมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เมื่อปี 2016

“เชื่อกันว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกิดจากสัตว์ป่าที่ถูกนำมาลักลอบค้าอย่างผิดกฎหมายที่ตลาดอาหารทะเลในอู่ฮั่น และแม้ค้างคาวจะถูกกล่าวถึงในงานวิจัยล่าสุดจากจีนว่าอาจเป็นต้นตอของไวรัสฯ แต่ซุปค้างคาวนั้นไม่ใช่สิ่งที่หากินได้ทั่วไปในจีน นอกจากนั้นก็คือ ขณะนี้การสืบหาแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของไวรัสฯ ก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ” สำนักข่าวฯ ระบุ

 

 

โฆษณาชวนเชื่อเหยียดชาวจีน


เดอะการ์เดียน (The Guardian) หนังสือพิมพ์สหราชอาณาจักร เผยแพร่บทความคิดเห็นซึ่งระบุว่า “ข่าวเท็จเรื่อง ‘ซุปค้างคาว’ คือตัวอย่างสุดคลาสสิกของข่าวปลอม และเป็นข่าวปลอมที่ทรงพลัง”

“อย่างในกรณีนี้ คลิปวิดีโอต้นฉบับจริงของหญิงชาวจีนที่กำลังกินซุปค้างคาวนั้น ถูกแยกออกจากบริบทที่แท้จริง (ที่ว่าเป็นวิดีโอท่องเที่ยวของบล็อกเกอร์ที่บันทึกจากร้านอาหารในปาเลาเมื่อปี 2016) และเริ่มกุเรื่องเชื่อมโยงว่าไวรัสโคโรนาบางชนิดเกิดจากค้างคาว เพื่อแต่งเรื่องน่าดึงดูดใจแก่เป้าหมายชาวตะวันตก กลุ่มที่ชอบเหยียดเชื้อชาติ” เดอะการ์เดียนระบุ


ในออสเตรเลีย มีการเตือนภัยปลอมซึ่งอ้างว่ามาจากรัฐบาลควีนส์แลนด์ เตือนให้ประชาชนอยู่ห่างจากพื้นที่ที่มีชาวจีนอยู่หนาแน่น ซึ่งเวลาต่อมา ดันแคน เพกก์ (Duncan Pegg) สมาชิกสภารัฐควีนส์แลนด์ เผยแพร่ภาพบันทึกจากหน้าจอของข่าวเตือนภัยดังกล่าว พร้อมระบุข้อความว่า “ปลอม!! ปลอม!! ปลอม!! 100%”


“ปกติผมก็ไม่อยากจะเชื่อถือคนที่หาทางว่าร้ายชุมชนของเราอยู่แล้ว แต่คราวนี้ผมอยากจะทำอะไรให้มันชัดเจน” ดันแคน เพกก์ กล่าว

 

 

ทฤษฎีสมคบคิด “อาวุธชีวภาพ”


อีกหนึ่งข่าวโคมลอยที่เผยแพร่ทางออนไลน์อย่างกว้างขวางนั้นหนีไม่พ้นรายงานจากหนังสือพิมพ์วอชิงตัน ไทมส์ (Washington Times) เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่อ้างว่าไวรัสฯ “อาจเกิดจากห้องทดลองในนครอู่ฮั่นซึ่งเชื่อมโยงกับโครงการลับเพื่อสร้างอาวุธชีวภาพ”


นิทานเรื่องการสมคบคิดสร้าง “อาวุธชีวภาพ” ดังกล่าว ถูกอ้างอิงที่มาจากแดนี โชแฮม (Dany Shoham) อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพอิสราเอล นิตยสารฟอเรนจ์ โพลิซี (Foreign Policy) ระบุข้อความในบทความฉบับหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า “ไวรัสอู่ฮั่นไม่ใช่อาวุธชีวภาพจากห้องทดลอง” (The Wuhan Virus Is Not a Lab-Made Bioweapon) บนเว็บไซต์ว่า “บรรดาทฤษฎีสมคบคิดแพร่ไปเร็วเสียยิ่งกว่าตัวไวรัสโคโรนา”

“แม้โชแฮมจะไม่เคยมีข้อสนับสนุนข้ออ้างเรื่องแต่งที่ว่าการแพร่ระบาดเกิดจากอาวุธชีวภาพ แต่สื่อก็ยังคงหยิบยกไปใช้และปั่นกระแส” ฟอเรนจ์โพลิซีระบุ
นอกจากนั้น สำนักข่าวบีบีซียังรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า “ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ สำหรับข้ออ้างนี้”

 

ลักษณะไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคเมอร์ส (MERS)

 


การแพร่ระบาด “ที่วางแผนไว้แล้ว”


ทฤษฎีสมคบคิดอีกข้อหนึ่งอ้างว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ถูกสร้างขึ้นโดยอุตสาหกรรมเภสัชกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อขายวัคซีน

“หนึ่งในคนพวกแรกๆ ที่ปล่อยข้อกล่าวหาเช่นนี้ออกมา คือยูทูเบอร์และนักทฤษฎีสมคบคิดที่ชื่อว่าจอร์แดน เซเธอร์ (Jordan Sather)” สำนักข่าว BBC รายงาน

เซเธอร์เผยแพร่เนื้อหาในทวิตเตอร์ซึ่งภายหลังถูกแชร์ไปในวงกว้าง เขาได้แนบลิงก์สิทธิบัตรปี 2015 ฉบับหนึ่ง ที่ออกโดยสถาบันเพอร์ไบรต์ (Pirbright Institute) สิทธิบัตรฉบับดังกล่าวระบุถึงการพัฒนาไวรัสโคโรนาที่เชื้ออ่อนแอสำหรับใช้เป็นวัคซีนป้องกันหรือรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ

อย่างไรก็ตาม สถาบันดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ฉบับยาวลงในเว็บไซต์ พร้อมชี้แจงว่างานวิจัยไวรัสโคโรนาของสถาบันนั้นครอบคลุมไวรัสที่มีผลต่อสัตว์ปีกและสุกรเท่านั้น ไม่ใช่เชื้อประเภทที่ปรากฏในมนุษย์

“สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ควรจดจำคือไวรัสโคโรนาไม่ใช่โรคหนึ่งโรค แต่เป็นกลุ่มไวรัสกลุ่มหนึ่ง (ที่มีหลายชนิด)” บัซซ์ฟีด (Buzzfeed) ไวรัสโคโรนาในปัจจุบันที่เชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดจากอู่ฮั่นนั้น ถูกระบุว่าเป็นชนิดที่ 7” สื่ออินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ รายงาน

 

 

 

ปั่นจำนวนผู้เสียชีวิต

ฮัล เทอร์เนอร์ (Hal Turner) พิธีกรรายการวิทยุของสหรัฐฯ หัวเอียงขวาจัด ได้อ้างถึงจำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อไวรัสฯ เกินจริงไปอย่างมาก โดยได้รายงานบนเว็บไซต์ของตน เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ว่า มีผู้เสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 112,000 ราย และมีผู้ติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ใหม่ถึง 2.8 ล้านราย พร้อมอ้างอิง “แหล่งข่าวกรองลับซึ่งเป็นอดีตเพื่อนร่วมงานของเขาตลอด 15 ปี ที่ทำงานในเอฟบีไอ (FBI)”

ขณะที่ ลีดสตอรีส์ ( Lead Stories) หนึ่งในองค์กรฝ่ายที่สาม ซึ่งเฟซบุ๊กว่าจ้างให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงยืนยันว่ารายงานของเทอร์เนอร์เป็น “ข่าวปลอม”

 

 

สำหรับความเป็นจริงที่ทางการสาธารณสุขของจีนได้แจ้งตัวเลขล่าสุดต่างๆ เป็นประจำทุกวัน เช่นเมื่อวันพุธ (5 ก.พ.63) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากไวรัสฯ บนจีนแผ่นดินใหญ่รวมอยู่ที่ 24,324 ราย และผู้ป่วยที่เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 490 ราย เมื่อนับถึงสิ้นวันอังคาร (4 ก.พ.)

ส่วนผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการหนักอยู่ที่ 3,219 ราย ผู้ป่วยต้องสงสัยอยู่ที่ 23,260 ราย และผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลได้แล้วรวมอยู่ที่ 892 ราย

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
อย่าไปกลัว! อาม่าเปิดใจ คนไทยติดเชื้อ”ไวรัสอู่ฮั่น”คนแรก 9 วันรักษาหายขาด