สาธารณสุขทำโครงการ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”

by ThaiQuote, 11 กุมภาพันธ์ 2563

‘ประยุทธ์’ เยี่ยมชมนิทรรศการ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” หนุนพระสงฆ์แข็งแรง รอบรู้ด้านสุขภาพ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมนิทรรศการการขับเคลื่อนพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข

 


ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ บูรณาการ การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศิลปวัฒนธรรมในความเป็นวัด โดยใช้หลัก 5 ร. คือ สะอาดร่มรื่น สงบร่มเย็น สุขภาพร่วมสร้าง ศิลปะร่วมจิต (วิญญาณ) และชาวประชาร่วมพัฒนา โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ให้คนในสังคมร่วมกันพัฒนาฐานรากของชุมชน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง เพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ สู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) ซึ่งที่ผ่านมา ได้ดำเนินการในระดับพื้นที่ โดยเริ่มตั้งแต่
1.การจัดทำแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560
2. ขับเคลื่อนการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพสู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple)
3.จัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด-อสว.) หลักสูตร 70 ชั่วโมงและหลักสูตร 35 ชั่วโมง ขณะนี้มีพระสงฆ์ที่ผ่านการอบรม จำนวน 5,716 รูป
4.การดูแลตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ตามโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาล/รพ.สต. เพื่อให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย พระสงฆ์ที่ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่องและส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาล

 

ส่วนกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดูแลด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับการดูแลอนามัยช่องปากอย่างเหมาะสม พร้อมให้ความรู้ประชาชนเรื่องการถวายอาหารพระสงฆ์ ลดหวาน มัน เค็ม



ทางด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทางสุขภาพ ทั้งโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ ต้องฉันอาหารจากการบิณฑบาตหรือตามที่ฆราวาสนำอาหารมาถวาย จึงไม่สามารถเลือกอาหารได้ รวมถึงมีข้อจำกัด บางประการด้านการออกกำลังกาย กรมอนามัยจึงร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ให้ประชาชนทำบุญตักบาตรด้วยภัตตาหารชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม และถวายความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่พระสงฆ์ เช่น จัดภัตตาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพ การดูแลอนามัยช่องปากของพระสงฆ์ รวมถึงแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม งานทำความสะอาดโบสถ์ วิหาร กวาดลานวัด และการย่อเข่าลุก-นั่งเก้าอี้ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับพระสงฆ์

 


ข่าวอื่นที่น่าสนใจ