ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ชี้ ประชาคมโลกควรร่วมือกันฝ่าฟันไวรัสร่วมกัน

by ThaiQuote, 26 มีนาคม 2563

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความเห็นว่าประเทศต่างๆตั้งแต่ระดับชุมชน ควรผนึกเป็นหนึ่งเดียวกันในการแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 และช่วยกันแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจนเกิดปัญหาด้านโลจิสติกส์เวชภัณฑ์

วันนี้ ( 26 มี.ค. 63) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ซูราบฮ์ กุบตา (Sourabh Gupta) ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวว่า แนวคิดของประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติจะ ‘มีความสำคัญจำเป็นยิ่งขึ้น’ ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ทั่วโลก

“ความท้าทายข้ามชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้การตอบสนองร่วมกันตั้งแต่ระดับชุมชนมาต่อกร ไม่มีทางอื่นใดนอกเหนือจากนี้” กุบตา สมาชิกอาวุโสของสถาบันการศึกษาจีน-อเมริกาในวอชิงตันดี.ซี. ให้สัมภาษณ์ดังนี้

การคาดการณ์ด้านเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ยังคงริบหรี่ยิ่งนัก กุปตากล่าว ซึ่งเขาคาดหวังว่าการประชุมสุดยอดของกลุ่มจี 20 (G20) ที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ผ่านโลกออนไลน์ จะเป็นประโยชน์ในการรวบรวมความร่วมมือระดับโลกและช่วยสนับสนุนการตอบโต้ต่อปัญหาสาธารณสุขระดับโลก นั่นคือ ‘การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19’ ได้

“ความต้องการเร่งด่วน ณ ขณะนี้คือการจัดประชุมฉุกเฉินของกลุ่มจี 20 เพื่อให้มีการเสนอมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบประสานงาน เช่น การเปิดห่วงโซ่อุปทาน (ช่องทางการผลิต) อยู่เสมอ โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์, การป้องกันไม่ให้เกิดการลดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อแข่งขันกัน และการจัดหาเงินทุนเพิ่มเพื่อเสริมความแข็งแกร่งตาข่ายความมั่นคงทางการเงินระดับโลก (Global Financial Safety Net)” เขากล่าว

น่าเสียดายที่ในเวลานี้ หลายประเทศตื่นตระหนกและพยายามแก้ไขสถานการณ์อยู่แค่ภายในประเทศ ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

“ด้วยความคิดพิจารณาในทางที่ผิด และความสนใจอันน้อยนิดในการแก้ปัญหาด้วยวิธีแบบพหุภาคีของคณะบริหารของทรัมป์ ผมเกรงว่าจะส่งผลให้การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้ายลงไปด้วย” กุปตากล่าว

ทั้งนี้ กุปตายังได้ยกย่องบทบาทขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการต่อสู้กับโควิด-19

“ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก สมควรได้รับความไว้วางใจยิ่งสำหรับการตอบสนองต่อโรคดังกล่าวขององค์การตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้” กุปตากล่าว

นอกจากนี้ กุปตายังกล่าวชมเชยจีนรวมถึงประเทศและภูมิภาคอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก ที่ลุกขึ้นมาต่อกรกับไวรัสอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

“พวกเขาได้วางกลยุทธ์ชุดแรกไว้ให้เราว่าควรตอบสนองต่อวิกฤตอย่างไรในขั้นแรก แม้ว่าระบบการเมืองของพวกเขาจะแตกต่างกันก็ตาม” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

ข่าวเด่นที่น่าสนใจ