“ธนาธร” ย้ำจะใช้มาตรการใดต้องคำนึงถึงคนหาเช้ากินค่ำ

by ThaiQuote, 17 เมษายน 2563

“ธนาธร” เสนอ 2 ทางเลือกแก้ไขปัญหาช่วงวิกฤตโควิด-19 แบ่งเป็น 1.เซมิ-ล็อกดาวน์ ให้อัดเม็ดเงินเข้าไปก่อนที่ระบบจะพัง 2. คลาย-ล็อก-คลาย-ล็อก สลับกันไป ช่วยให้คนหาเช้ากินค่ำก็มีโอกาสหากิน


วันที่ 17 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงาน เพจคณะก้าวหน้าแรงงาน จัดไลฟ์พูดคุยกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า ในหัวข้อ "มองเศรษฐกิจไทย หลังภัยโควิด -19" โดยตอนหนึ่ง นายธนาธร กล่าวว่า การจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาล ในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทั้งในทางคุณภาพและปริมาณ ตอนนี้มีปัญหา ตนคิดว่า ควรเยียวยาประชาชนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ประเทศก่อน จากนั้นค่อยขยับมาสู่ เอสเอ็มอี ชนชั้นกลาง แล้วค่อยไปช่วยเหลือกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ไม่ได้ทำให้ทุนใหญ่ล้มละลายแน่ๆ อย่าง กรณีบริษัทขายสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายขนาดว่า ถ้าไม่ช่วยเหลือแล้วจะล้มละลาย นี่เป็นมายาคติ บริษัทเหล่านี้ แต่ละปี กำไรพันล้าน หมื่นล้าน ดังนั้น ขาดทุน 2-3 เดือนไม่พังแน่ๆ และที่สำคัญ บริษัทปลอดภาษีเหล่านี้ ก็ไม่ได้จ้างงานคนมากมาย ความเสียหายจำกัดมาก ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาล ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบของรัฐบาลผิดมากๆ

นายธนาธร กล่าวด้วยว่า กรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท วิเคราะห์ผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือโดยเอไอ ไม่มีใครมั่นใจ หรือรู้ว่าเอไอนั้น เขียนข้อมูลอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเปิดเผย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ ถ้าใช้เอไอแบบนี้แล้วต้องใช้เวลากว่า 10 วัน ประชาชนถึงจะได้เงินก้อนแรก ตนนี้ถือว่า ให้ความสำคัญผิดมากๆ เพราะจากที่มีโอกาสไปพูดคุยกับคนในชุมชนแห่งหนึ่ง สิ่งที่ได้ยินมาคือ พวกเขาไม่มีอันจะกินแล้ว ในชุมชนส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้อยู่ในระบบประกันตน แต่ก็ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ ในชุมชนนี้แทบทั้งหมดมีอาชีพเกี่ยวเนื่องกันกับการร้อยพวงมาลัยขาย เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ ที่เรามองไม่เห็น ซึ่งพอมีการเคอร์ฟิว ได้รับผลกระทบ ระบบงานพังลง คนกลุ่มนี้ ไม่มีแม้แต่จะกินข้าว คือ ถ้าปล่อยอย่างนี้ไปอีก 2-3 อาทิตย์ เขาบอกว่า ตายแน่ ดังนั้น เขาจึงพร้อมที่จะยอมออกไปค้าขายปกติ แม้จะเสี่ยงกับการติดไวรัส ดีกว่าจะอยู่แล้วอดตายอย่างนี้ เพราะไม่ได้รับการเยียวยา พวกเขาลำบากจริงๆ แต่มาตรการช่วยเหลือของรัฐก็ไปไม่ถึง มีแต่มาตรการบอกให้เขาอยู่บ้าน แล้วไม่บอกเลยว่าจะเยียวยาเขาอย่างไร

"เรื่องไวรัสโควิด-19 แน่นอนว่า แพร่ระบาดไม่เลือกชนชั้น ทุกคนมีสิทธิติดเชื้อได้เหมือนกันหมด แต่ทว่า นี่เป็นเรื่องชนชั้น คือ ส่งผลกับคนแต่ละชนชั้นแตกต่างกันไป คนที่มีรายได้สูง คนที่ที่บ้านมีพื้นที่ การกักบริเวณของพวกเขาไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ในขณะที่คนที่อยู่ในห้องแคบๆ 3-5 ตารางเมตร อยู่กัน 5 คน ลดค่าไฟเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ไม่ช่วยอะไรเลย เพราะพวกเขายังต้องใช้ไฟเพิ่มขึ้น และที่สำคัญการถูกบังคับให้อยู่บ้าน ทำให้พวกเขาขายของไม่ได้ ไม่มีรายได้ และถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็คงไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ โดนตัดน้ำตัดไฟ วุ่นวายแน่นอน" นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวว่า รัฐบาลมีทางเลือก 2 ทางเกี่ยวกับการช่วยเหลือ คือ ทางเลือกแรก ถ้ายังเป็นมาตรการ เซมิ-ล็อกดาวน์ หรือ กึ่งเปิดกึ่งปิดแบบขณะนี้ต่อไป จำเป็นต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยอัดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเพื่อช่วยพยุงซึ่งจะใช้น้อยกว่าการปล่อยพังแล้วอัดเข้าไป เพราะการจะดึงความเชื่อมั่นกลับมา ดึงนักลงทุนกลับมา เกิดการจ้างงาน เกิดการบริโภคอีกครั้งยากมาก ดังนั้น ต้องยอมเสียเงินพยุงดีกว่าปล่อยให้พัง เพราะถ้าดูแลตอนนี้ คนจะอดตายก่อนจะตายเพราะติดเชื้อ

และสำหรับทางเลือกที่ 2 คือ คลาย-ล็อก-คลาย-ล็อก สลับกันไป ทั้งนี้ ถ้าจำได้ตอนไวรัสเริ่มใหม่ๆ ในคลื่นลูกแรกนั้นทำทุกคนเป๋ เพราะไม่ได้เตรียมรับมือ จึงเกิดเซมิ-ล็อกดาวน์ กราฟผู้ป่วยคนตายลดลงแต่คนจะอดตาย ดังนั้น ถ้าคลายแน่นอนว่า กราฟอาจจะกลับขึ้นไป จึงต้องล็อกซึ่งในช่วงล็อกนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมประเทศ ด้านสาธารณสุข เรื่องดูแล คนเข้ามาเมือง การสอบทานคนติดเชื้อ ซึ่งต้องทำ เพื่อให้การคลายครั้งต่อไปจะมีทุกอย่างพร้อมรับมือดูแลได้

"สำหรับคำแนะนำผู้ประกอบธุรกิจ มองว่าต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าสำนักงาน เงินเดือนพนักงาน ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับการอยู่ได้ ควรคิดไว้ 6 เดือน ซึ่งไม่ว่าเราจะเลือกปฏิบัติการแบบไหน จะเป็นแบบแรกหรือแบบหลัง อาจต้องมองต้นทุน 6 เดือนนี้ ซึ่งในไตรมาสที่ 4 อาจจะกลับมาได้ แต่ทว่า ถ้าเรายังใช้กึ่งเปิดกึ่งปิดแบบนี้ แล้วไม่มีเยียวยา หรือยังเป็นการเยียวยาแบบที่เป็นอยู่ เชื่อว่าตายทั้งประเทศ การช่วยเหลือเยียวยาตอนนี้ ผมเห็นว่า ต้องดึงสวัสดิการทุกก้อนร่วมกัน แล้วจ่ายออกไปแบบเดียวกัน ถ้วนหน้า เพราะวันนี้เอไอไม่อาจพิสูจน์ว่า ใครควรได้รับ ดูอย่างเหมือนบัตรคนจน คนที่ได้รับก็ไม่ได้มีแต่คนจนอย่างเดียว คือ เกิดการแข่งขันกันจน เกิดการพิสูจน์เพื่อลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เปลี่ยนจากพลเมืองกลายเป็นผู้สงเคราะห์จากรัฐ ดังนั้น ต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ และต้องคิดทั้งระบบแยกส่วนไม่ได้ สวัสดิการถ้วนหน้านี้อาจไม่จำเป็นต้องถึง 5,000 บาท เพื่อเป็นการลดภาระของรัฐ แต่ต้องกระจายรายหัวให้ได้มากขึ้น" นายธนาธร กล่าว

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ