พ้นโควิด-19 รากหญ้าจะผงาด ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ดัน "Local Economy" กู้ชาติ

by ThaiQuote, 23 เมษายน 2563

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล "คลัง-อุตฯ" ระดมสมองสรุปมาตรการหาทางออกประเทศหลังพ้นโควิด-19 รับข้อเสนอ 5 มาตรการช่วยเอกชน-เอสเอ็มอี

 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เข้านัดหารือร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน ที่มีทั้ง กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และเอสเอ็มอีดีแบงก์ เป้าหมายคือเร่งหาข้อสรุปเพื่อจะเคาะมาตรการช่วยเหลือเยียวยา เพิ่มสภาพคล่อง ชะลอการจ้างงาน ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และจะเป็นการผลักดันให้ Local Economy ทางออกทางเศรษฐกิจหลังรับผลกระทบ โควิด-19

 

 

วงประชุมถูกจัดขึ้นเพื่อหารือเป็นทางออกร่วมกันที่กระทรวงอุตสาหกรรมในวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ก็ออกมาเปิดเผยผลหารือในวงประชุมที่ได้ข้อสรุปว่า ทางกระทรวงได้เตรียมพร้อมตอบรับนโยบายของภาครัฐในด้านผลักดันให้เป็น Local Economy โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการผลักดันด้าน อี-คอมเมิร์ซ เน้นการพึ่งพาอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ที่มาจากผลผลิตภายในประเทศ ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นทางออกทางเศรษฐกิจของประเทศหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาคเอกชนที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ เยียวยา แบ่งออกเป็น 5 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย

1.มาตรการทางภาษี อาทิ ให้กรมสรรพากรเร่งรัดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนที่ชำระเกินภายใน 30 วัน ขยายเพดานค่าลดหย่อนภาษีการกุศลของนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ในปี 2563

2.มาตรการด้านการเงิน อาทิ สินเชื่อที่รัฐให้เพิ่มสภาพคล่อง ขอให้ บสย. ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มเป็น 80% สถาบันการเงินปรับลดระยะเวลาพิจารณาประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในเครดิตบูโร จาก 3 ปี เหลือ 1 ปี

3.มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน อาทิ ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะภายในปีนี้ และพิจารณาคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับธุรกิจ SMEs ที่ใช้มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 50 แอมป์ เพื่อจะได้นำมาเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจช่วงวิกฤติ

 

 

4.มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน อาทิ ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน ผ่อนผันการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างชาติ (Work Permit) รวมถึงแรงงานต่างด้าวไป 6 เดือน

5.มาตรการด้านอื่น อาทิ ให้รัฐประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) และให้เพิ่มแต้มต่อสำหรับธุรกิจ SMEs ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐใช้ระบบ Online ในการออกใบอนุญาตและรับชำระค่าธรรมเนียม รวมทั้งบริการอื่นๆ

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายงานอย่างชัดเจนให้กับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการเพื่อเยียวยาตามมาตรการ อาทิ มาตรการด้านการเงิน มอบหมาย กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลเรื่องค่าเงิน มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมประสานกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอื่นๆ มาตรการด้านอื่น มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทยร่วมกันพิจารณาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง เพื่อจะได้รับการแก้ไขได้ตรงจุด

 

ข่าวที่น่าสนใจ