วิกฤติโควิด ทำคนอเมริกัน ตกงาน 26 ล้านคน กระทบ “โรงทาน” ไม่มีอาหารแจก

by ThaiQuote, 26 เมษายน 2563

มีเงินก็ซื้อไม่ได้ วิกฤติโควิดในสหรัฐฯ ทำศูนย์แจกอาหาร ไร้วัตถุดิบทำอาหารแจก เหตุคนตกงานรอรับอาหารเพิ่มขึ้น ขณะที่แหล่งผลิตอาหารไม่สามารถส่งวัตถุดิบให้ได้

 

รอยเตอร์ รายงานถึงสถาการณ์การขาดแคลนอาหารในศูนย์แจกอาหาร หรือ Food Bank ของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อศูนย์แจกอาหารบางแห่ง ไม่สามารถทำอาหารแจกได้ เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งมาจากร้านชำ และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

รายงานดังกล่าวระบุว่า ศูนย์แจกอาหาร El Pasoans Fighting Hunger ในเมือง เอล พาโซ รัฐเท็กซัส มีผู้คนมารอรับอาหารตั้งแต่ 4 โมงเย็น ก่อนที่อาหารจะหมดลงในเวลา 3 ทุ่ม โดยมีขบวนรถที่ต่อแถวเป็นคิวยาวกว่ากิโล เพื่อรับอาหาร โดยศูนย์ดังกล่าวบอกว่า ขณะนี้วัตถุดิบจำพวกอาหารแห้ง แป้ง ข้าว และถั่ว ไม่มีเหลืออยู่ในสต็อก

 

 

ทั้งนี้ศูนย์แจกอาหารหลายแห่งในสหรัฐฯ กำลังขาดแคลนวัตถุดิบที่จะทำอาหาร เนื่องจากมีความต้องการอาหารจากครอบครัวที่ยากจนเพิ่มมากขึ้น โดยจากการระบาดของโรคโควิด19 มีชาวอเมริกันกว่า 26 ล้านคนตกงาน ทำให้ความต้องการอาหารจากศูนย์แจกอาหารเพิ่มขึ้น เป็น 2-3 เท่า ข้อมูล Feeding America ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่จัดทำ Food Bank เผยว่า ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด19 นั้น คนอเมริกัน 1 ใน7 คนก็ใช้บริการจากศูนย์แจกอาหารอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว

ขณะที่ในนครนิวยอร์ก ศูนย์แจกอาหาร มากกว่า 1 ใน 3 ของเมือง ได้ปิดให้บริการแล้ว เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ และอาสาสมัครที่มาคอยช่วยบริการ เพราะกลัวการติดเชื้อไวรัสโควิด19

ด้านศูนย์อาหารในเมืองซานดิเอโก ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อคำสั่งซื้อวัตถุดิบมูลค่ากว่า 30 ล้านบาทต้องถูกระงับไว้ เพราะการขนส่งถูกตัดขาด ด้านข้อมูลจากธนาคารอาหารในเมืองเนบราสก้าเผยว่า จากปกติที่จะต้องจ่ายค่าอาหารเดือนละ ประมาณ 2 ล้านบาท แต่เมื่อโควิดระบาดทำให้พวกเขาต้องจ่ายสูงถึง 30 ล้านบาทต่อเดือน

 

 

สำหรับสาเหตุการขาดแคลนวัตถุดิบดังกล่าว ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของราคาค่าวัตถุดิบที่แพงขึ้นเท่านั้น แต่ห่วงโซ่การผลิตได้ถูกตัดตอนไป

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ส่วนหนึ่งได้ตัดวงจรการรับบริจาควัตถุดิบของศูนย์แจกอาหาร เพราะร้านขายของชำที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะส่งพวกผักสด เนื้อสัตว์ อาหารกระป๋องที่ไม่สมบูรณ์ หรือใกล้หมดอายุ มาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งในขณะนี้ไม่สามารถส่งมาได้ เพราะความต้องการมีสูงมากและไม่เพียงพอที่จะขาย จึงต้องส่งเป็นเงินสดมาแทน

ขณะที่กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนั้น ก็ไม่สามารถส่งพืชผัก หรือเนื้อสัตว์มาได้ เนื่องจากการขนส่งถูกจำกัด ขณะที่ส่วนหนึ่งเพราะศูนย์แจกอาหารไม่มีแรงงาน หรือไม่มีสต็อกเพียงพอที่จะเก็บวัตถุดิบไว้คราวละมากๆ ทำให้มีพืชผัก นมสด เนื้อสัตว์ ที่ต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ปลาเม็ง สัตว์เศรษฐกิจใหม่ หน้าตาคล้ายปลาดุก แต่ราคาคนละเรื่อง

ฝูงโลมาอิรวดี 10 ตัว โชว์ตัว เกาะช้าง ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย