"หญิงหน่อยขอแนะลุงตู่" สอน 4 วิธีใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านฟื้นพิษโควิด-19

by ThaiQuote, 15 พฤษภาคม 2563

"หญิงหน่อย" ร่ายยาวแนะรัฐบาลใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทอย่างมีประสิทธิภาพรวม 4 ข้อ ขอเน้นไปพัฒนาระบบสุขอนามัย-โครงสร้างสุขภาพ

 

วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 - คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดียถึงประเด็นการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาลในการใช้แก้ไขปัญหาโควิด-19 สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ และอยากให้รัฐบาลใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเนื่่องจากเป็นวงเงินกู้ครั้งประวัติศาสตร์กับจำนวนเงินมหาศาลและคนไทยต้องใช้หนี้กันไปอีกนาน พร้อมกันนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ ยังได้เสนอแนะวิธีการใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทต่อรัฐบาล โดยแบ่งเป็น 4 ข้อด้วยกัน คือ

1. เพื่อช่วยประชาชนอย่างจริงใจ จริงจัง รวดเร็ว

2. เพื่อฟื้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง โดยเฉพาะธุรกิจของคนตัวเล็ก SMEs ไม่ใช่ได้ประโยชน์เฉพาะทุนใหญ่เท่านั้น

3.เพื่อสร้างสามารถให้ธุรกิจไทยเดินต่อได้ และ มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในโลกหลัง COVID-19 ที่พฤติกรรมผู้ บริโภค และวิถีธุรกิจ จะเปลี่ยนไป (New normal) ซึ่งรัฐบาลต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโลกหลังCOVID-19 ให้ธุรกิจให้สามารถอยู่รอดได้ ในโลกใหม่รับ New Normal ได้

4.ต้องใช้เงินกู้อย่างโปร่งใส ไร้ทุจริต ไม่ใช่ใช้เพื่อทุ่มแจกเงินแบบเพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น โดยไม่ก่อให้เกิดการสร้างงาน หรือสร้างรายได้ใหม่ หรือฉวยโอกาสจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ให้มีการทุจริต เพื่อการสะสมทุนทางการเมือง

คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุอีกว่า วันนี้เงินกู้ 600,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชนยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องเข้าเดือนที่ 3 แล้ว ทั้งปัญหายังไม่ครอบคลุมคนเดือดร้อนได้ครบถ้วน ทั้งประชาชนและเกษตรกร ที่สำคัญคือวิธีการยุ่งยาก ล่าช้ามาก ทั้งที่ภาครัฐมีทะเบียนคนจน คนตกงาน และทะเบียนเกษตรกรอยู่แล้ว แต่กลับต้องให้ประชาชนต้องไปขึ้นทะเบียนใหม่ ด้วยความลำบาก ทั้งที่เขาได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐ

เงินกู้1.9 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลนี้กู้ ก็เป็นหนี้ของประชาชน ทำไมการจ่ายเงินคนจน จึงยากลำบากล่าช้ามาร่วม 3 เดือนแล้ว มีหัวใจให้คนจนบ้างเถอะค่ะ

นอกจากนั้นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นเงินออมของเขาเองก็จ่ายยากเย็น ล่าช้าซึ่งกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ที่สส. จิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นประธานกรรมาธิการ กำลังตรวจสอบว่า มีการเอาเงินออมของประชาชนไปใช้ไม่ถูกทางหรือไม่ จึงไม่มีเงินจ่ายให้ผู้ประกันตน อีกส่วนของเงินกู้ 600,000 ล้านบาท คือส่วนที่นำไปใช้ด้านสาธารณสุข ดิฉันไม่เห็นการนำเงินกู้นี้ไปใช้เป็นรูปธรรม ในการวาง “โครงสร้างด้านสาธารณสุข” เพื่อเสริมศักยภาพด้านสาธารณสุขของเราให้แข็งแกร่งมากขึ้น

ทั้งที่เรามาถึงวันนี้ได้ ที่มีผู้ติดเชื้อลดลงก็เพราะระบบสาธารณสุขของไทยที่แข็งแกร่งมาช้านาน รวมทั้งความทุ่มเท ความเสียสละ และความสามารถของคณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนที่ยอมเสียสละอยู่บ้าน ดูแลป้องกันการระบาดอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย ดูแลสุขอนามัย เว้นระยะห่าง ตามที่สาธารณสุขแนะนำอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ความจำเป็นที่เราควรใช้เงินกู้จำนวนนี้ ไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพ “โครงสร้างด้านสาธารณสุข” ของไทยเพื่อประโยชน์ทั้งในเชิงรับและรุก เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นการเตรียมความพร้อม หากมีการกลับมาระบาดใหม่ ของ COVID-19 หรือในอนาคตอาจมีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีหลังนี้ เราจะได้มีความพร้อมในการดูแลสุขภาพของประชาชน นอกจากนั้น ในเชิงรุกการลงทุนใน “โครงสร้างด้านสาธารณสุข” จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้โดยตรง เพราะโลกหลัง COVID-19 คนทั่วโลกจะคำนึงถึงสุขอนามัยและสุขภาพ (Hyginity & Health) มากขึ้น

การลงทุนให้คนไทย และคนทั่วโลกมั่นใจในระบบสาธารณสุขไทย ผลดีจะตกกับ เศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการท่องเที่ยว การบริการ การส่งออกโดยเฉพาะด้านอาหาร รวมทั้งเกษตรกรของไทย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างให้ธุรกิจไทยเดินต่อไปได้ และมีศักยภาพในการแข่งขันในโลกหลัง COVID-19

แต่ดิฉันไม่เห็นวิสัยทัศน์ หรือแผนงานการลงทุนด้าน “โครงสร้างด้านสาธารณสุข” จากรัฐบาลในขณะนี้เลย ว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจไทย ยังเดินไปต่อได้ในโลกหลัง COVID-19 ที่ต้องมี New normal ใหม่ ถ้านายกรัฐมนตรีและทีมเศรษฐกิจยังมองเรื่องนี้ไม่ออก ความหวังที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 ก็จะดูยากมาก

 

ข่าวที่น่าสนใจ

"ถวิล" เล่าความจริง "เผาเมือง'53" สวนแสงเลเซอร์ ยันแค่เข้าขอคืนพื้นที่

กูเกิลเผยเทรนด์ค้นหาเมืองไทย "เกษตรกร" และ "สิทธิ์" ถูกหาข้อมูลมากสุดช่วงโควิด-19