หน้าฝนระวัง “แมงมุมแม่ม่ายดำ-แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล” พิษร้ายแรง

by ThaiQuote, 25 พฤษภาคม 2563

“แมงมุมแม่ม่ายดำ-แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล” ระบาดช่วงหน้าฝน กรมอนามัย เผย พิษร้ายแรง คลื่นไส้อาเจียน ไข้ หรือ ปวดศีรษะ ไตวาย

 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตือนช่วงหน้าฝนเฝ้าสังเกตแมงมุม 2 ชนิด คือ แมงมุมแม่ม่ายดำ และแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล เพราะเป็นแมงมุมแบบมีพิษ ฤทธิ์ของแต่ละตัวร้ายแรงมาก โดยผู้ป่วยที่ถูกแมงมุมมีพิษกัด จะมีอาการทางผิวหนังเริ่มจากปวดเล็กน้อย เริ่มรุนแรงขึ้น และปวดต่อเนื่องร่วมสัปดาห์

สำหรับแมงมุมแม่ม่ายดำ (black widow spider) และแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล (brown recluse spider) มีลักษณะที่เด่นชัดของแมงมุมมีพิษให้สังเกตตรงบริเวณท้องจะป่องขึ้นมาเป็นพิเศษ ซึ่งแตกต่างจากแมงมุมที่เจอตามบ้านทั่วไป พิษของแมงมุมสามารถทำให้เกิดอาการทางระบบอื่นๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ไข้ หรือ ปวดศีรษะ ในบางรายอาจรุนแรงมาก เช่น ไตวาย หรือ ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 1-2 วันหลังโดนกัด

 

 

 

 

เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนทำให้สัตว์จำพวกแมลงมีพิษต่างๆ มักจะหลบซ่อนเข้ามาตามบ้านเรือน จึงควรทำความสะอาดและตรวจสอบเสื้อผ้าก่อนสวมใส่ ตรวจสอบที่นอนก่อนนอนเสมอ สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อถูกแมงมุมมีพิษกัด ให้รีบทำความสะอาดและประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัด หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ไม่ควรประคบร้อนที่บริเวณที่ถูกกัดโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้พิษแมงมุมกระจาย

ทั้งนี้ หากมีอาการรุนแรง เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ หรือปวดศีรษะ ให้รีบไปโรงพยาบาล โดยนำแมงมุมไปด้วย ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีเซรุ่มหรือยาต้านพิษ เนื่องจากพิษแมงมุมในประเทศไทยไม่ได้รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

เตือนระวังไข้เลือดออกระบาด พบกลุ่มเสี่ยงเด็กอายุ 10-14 ปี

โพลชี้ ประชาชนพอใจมาตรการแจกเงินโควิด-19 ของรัฐบาล มากที่สุด!