เกรียนคีย์บอร์ดสะดุ้ง! โพสต์ประจานคนอื่น นายจ้างเลิกจ้างได้!

by ThaiQuote, 25 พฤษภาคม 2563

เพจ “กฎหมายแรงงาน” ให้ความรู้ เผย มือไว “โพสต์ประจานคนอื่น” อาจมีผลร้ายแรงถึงขั้นตกงาน เนื่องจากนายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างได้!!

 

ถึงแม้การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์จะเป็นสิ่งที่เปิดกว้าง แต่ใช่ว่าจะทำได้อย่างไร้ขอบเขตตามใจ เพราะยิ่งหากไปกระทบกับบุคคลอื่น หรือมีความเกี่ยวพันต่อภาพลักษณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวตนของเรา ก็อาจเกิดผลเสียอย่างร้ายแรงได้

ล่าสุด เฟซบุ๊กแฟนเพจ “กฎหมายแรงงาน” ได้โพสต์ให้ความรู้ถึงข้อกฎหมาย ของการ “โพสต์” ประจานคนอื่น ซึ่งอาจมีผลร้ายแรงถึงขั้นตกงาน เนื่องจากนายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างเราได้

 

โดยโพสต์ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

“โพสต์ประจานคนอื่น นายจ้างเลิกจ้างได้

งานนี้นักเลงคีย์บอร์ดมีผวา เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษได้พิพากษาว่าการโพสต์ประจานคนอื่น (ไม่ใช่คนในบริษัท ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน) ว่า

“ผู้ชายหน้าตัวเมีย หน้า ห. หน้า ต. แย่งที่จอดรถกุเฉย มึนนะไอ้ควาย”

โดยมีการโพสต์ภาพประจานด้วย

สาเหตุมาจากการแย่งที่จอดรถ

คดีนี้แยกประเด็นที่ศาลพิพากษาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

 

 

๑) คำที่โพสว่า “ผู้ชายหน้าตัวเมีย หน้า ห. หน้า ต. แย่งที่จอดรถกุเฉย มึนนะไอ้ควาย” ไม่ใช่เป็นการหมิ่นประมาท เป็นเพียงคำด่า คำหยาบคาย มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงที่จะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ไม่ผิดอาญาตามมาตรา ๓๒๖

๒) แต่คำดังกล่าวถือเป็นการทำผิดกฎหมายอาญาฐานดูหมิ่นด้วยการโฆษณา

๓) เมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอาญา แม้บุคคลที่ถูกโพสต์ด่าและโพสภาพประจานจะเป็นบุคคลภายนอกก็ตาม

๔) ปกติมาตรา ๑๑๙(๑) กำหนดว่าการทำผิดอาญาที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้จะต้องกระทำผิดต่อ "นายจ้าง" เท่านั้น

แต่... อย่าลืมว่านายจ้างอาจเลิกจ้างเพราะฝ่าฝืนข้อบังคับ ซึ่งถ้าเป็นกรณีร้ายแรง สามารถเลิกจ้างได้ทันทีไม่ต้องเตือนก่อน ตามมาตรา ๑๑๙(๔) และคดีนี้ข้อบังคับในการทำงานของนายจ้างในข้อ ๔๔ ระบุว่า "ทำผิดอาญาต่อผู้อื่น" เป็นเรื่องร้ายแรง เลิกจ้างได้

(เทคนิคข้อนี้นำไปปรับปรุงข้อบังคับได้นะครับ)

๕) ศาลยังได้พิพากษาว่า "การถ่ายรูปและเขียนข้อความโพสดังกล่าว (แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน) อันเป็นการประจานโดย "ไม่สนใจไยดีในความเดือดร้อนของผู้ที่ถูกประจาน" ว่าจะถูกสังคมดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อายเพียงใด

แม้จะรีบลบข้อความโพสดังกล่าวออกไป แต่ข้อความที่โพสต์ก็สามารถแพร่ข่าวสารไปได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น

พฤติการณ์ของลูกจ้างเป็นการขาดสติ ความรับผิดชอบและความยับยั้งชั่งใจย่อมไม่สมควรอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงอยู่ในตัว"

๖) คดีนี้จึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม ปพพ. มาตรา ๕๘๓ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๙(๔) แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ตาม พรบ.จัดตั้งฯ ม. ๔๙

ข้อสังเกต
-ในแง่การทำข้อบังคับ คดีนี้แสดงให้เห็นได้ว่าข้อบังคับที่กำหนดว่า "ห้ามทำผิดกฎหมายอาญา" ไม่ว่าผู้เสียหายจะเป็นใครก็ตาม ใช้บังคับได้

-
-แอดมินพบว่าหลายคนที่ไปคอมเมนต์ตามโพสต์ของสำนักข่าวก็ดี หรือโพสต์แสดงความเห็นในเพจต่าง ๆ ก็ดี โดยใช้ถ้อยคำรุนแรง ก่นด่า หรือแสดงพฤติกรรมที่คดีนี้ใช้คำว่า "พฤติการณ์ที่ขาดสติ ความรับผิดชอบและความยับยั้งชั่งใจ"

-บางคนอาจทำเฟซบุ๊กปลอมหรืออวตารขึ้นมา แอดมินขอเรียนว่าแม้ปลอมฯ ก็สามารถตามตัวได้ และไม่ยากด้วย เพราะเวลาตามผู้กระทำความผิดเขาตามจากเลข IP ประจำเครื่องคอมฯ หรือมือถือฯ ซึ่งกฎหมายบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ต้องเก็บข้อมูลการใช้ (ที่เรียกว่า ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์) ดังนั้น ที่เราเข้าไปดูเว็บไซตไหน หรือเพจไหนกฎหมายกำหนดให้เก็บข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ หรือ Log fil เอาไว้

ที่มา : คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 73/2562”

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

โพลชี้ ประชาชนพอใจมาตรการแจกเงินโควิด-19 ของรัฐบาล มากที่สุด!

“สหรัฐ” ยกย่อง“ไทย” 1 ใน 5 ประเทศ คุมโควิด-19 อยู่หมัด