องค์กรคนพิการ แนะรัฐ เพิ่มสิทธิบริการสุขภาพคนพิการ ยุค New Normal

by ThaiQuote, 20 มิถุนายน 2563

องค์กรคนพิการ ชี้การเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ ในช่วงโควิด19 ถือเป็นบทเรียนสำคัญของรัฐ แนะเพิ่มสิทธิประโยชน์ในยุค New Normal

 

ภาคประชาสังคม เปิดเวทีเผยแพร่ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ในชื่อ “หลักประกันสุขภาพคนพิการในยุค New Normal”ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ “คนพิการ” โดยเฉพาะสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งจากมาตรการเว้นระยะห่าง และการลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล

โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ถือเป็นบทเรียนสำคัญ ที่จะช่วยให้ภาครัฐได้จับระบบการดูแลคนพิการใหม่ เพื่อปรับให้เข้สู่ยุค New Normal ซึ่ง the coverage ได้เผยข้อมูลที่ไว้น่าสนใจต่อจากนี้
.
“จรรยา บัวสร” ผู้แทนสำนักงานสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวถึงอุปสรรคของคนพิการ ที่หลายคนมองข้าม ว่า ผู้พิการซึ่งมองไม่เห็นและไม่ได้ยินเสียง มักมีปัญหาขั้นเริ่มต้นตั้งแต่ มาตรการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ โดยอยากเสนอให้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ จัดหาเครื่องมือวัดไข้ระบบเสียง ตลอดจนอุปกรณ์ปรอทวัดไข้-เครื่องวัดความดันโลหิต ที่ควรมีระบบเสียงบอกมาใช้
.
นอกจากนี้ อีกข้อเสนอหนึ่งคือ การจัดหาล่ามภาษามือออนไลน์ รวมทั้งปัญหาเรื่องการวินิจฉัยของแพทย์ เรื่องสิทธิประโยชน์ใส่ดวงตาปลอมที่มักจะลงความเห็นว่าเป็นการ “ศัลยกรรม” จึงเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ได้การ เหล่านี้ล้วนเป็นบางส่วนจากปัญหาการรับบริการสุขภาพในชีวิตประจำวันของผู้พิการประเภทต่างๆ

ด้าน “กัญญาวีร์ แขวงโสภา” ผู้แทนจากสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) กล่าวว่า การเลื่อนนัดอย่างไม่มีกำหนดของโรงพยาบาลภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การทำหัตถบำบัด การฝึกพูด การเรียนรู้ของเด็กออทิสติกต้องหยุดชะงัก
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น ยิ่งทำให้พัฒนาการของเด็กหยุด และทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรง ครอบครัวเกิดความเครียด จึงอยากเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. จัดทำสื่อเรื่องบริการฟื้นฟูสภาพด้านการแพทย์ในทุกแขนง เพื่อให้ครอบครัวนำไปใช้ที่บ้านได้
.
ขณะที่ “วันเสาร์ ไชยกุล” ผู้แทนเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ กล่าวถึง กรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เห็นชัดถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพผู้พิการ ซึ่งที่ผ่านมาขาดการดูแลหรือการเข้าถึงบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งในอนาคตก็อาจเกิดสถานการณ์ลักษณะนี้ได้อีก

ถ้ามีกลไกสุขภาพระดับชุมชนเข้ามาจัดการในระดับพื้นที่น่าจะทำให้คนพิการได้รับบริการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นไปตามหน้าที่โดยตรงของทั้ง กองทุนหลักประกันสุขภาพสุขภาพระดับท้องถิ่น กองทุน LTC ของ สปสช. ศูนย์บริการคนพิการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรเหล่านี้เกิดการบูรณาการร่วมกัน
.
นอกจากนี้ “วันเสาร์” ยังได้เสนอข้อคิดถึงสิ่งที่ควรทำในขั้นตอนเร่งด่วนคือ 1.เอกซเรย์พื้นที่ว่ามีจำนวนคนพิการเท่าใด ปัญหาและความต้องการเป็นอย่างไร 2.เอกซเรย์คนทำงานในพื้นที่ว่ามีองค์กร เครือข่ายในพื้นที่หรือไม่ เพื่อให้เกิดการจับคู่กับหน่วยงานรัฐในการขับเคลื่อนระบบในพื้นที่
.
ในระยะยาวยังมีเรื่องการพัฒนาวิจัยวัสดุอุปกรณ์สิ่งของทางการแพทย์ที่ทางเครือข่ายอยากเห็นการพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สายสวนปัสสาวะ สายอาหาร ฯลฯ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้มีราคาถูกลงและเมื่อราคาถูกลงก็อาจเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ได้
.
ด้าน “นิตยา ศรีวงศ์” สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ที่ได้เสนอให้เกิดการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เรื่องของผ้าอ้อม จาก สปสช. เนื่องจากในช่วงโควิด19 ที่ผ่านมาผู้พิการมีความต้องการค่อนข้างมาก โดยผ้าอ้อมเป็นค่าใช้จ่ายประจำและต้นทุนค่อนข้างสูงถึงชิ้นละ 20-30 บาท
.
เช่นเดียวกันกับ “วิเชียร หัสถาดล” สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ที่บอกว่า ผ้าอ้อมสำหรับคนพิการติดเตียงและที่นั่งรถเข็นยังไม่เพียงพออย่างมาก ส่วนเรื่องการซ่อมรถเข็น ก็ยังไม่สามารถเบิกจาก สปสช. ได้เต็มราคาค่าซ่อม
.
ในส่วนของ “พิศมัย สุวรรณรังสี” ตัวแทนจากสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ได้แสดงความกังวลเรื่องราคายา แสดงความกังวลเรื่องราคายา ซึ่งแม้ว่า สปสช.จะดูแลเรื่องยาผู้ป่วยจิตเวชอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังมียาบางรายการที่ราคาแพง ทำให้แพทย์ไม่สามารถจ่ายยาให้เป็นจำนวนมากได้ ได้มากได้
.
ด้านเรื่องของ “ตั้งกองทุนจิตเวชชุมชน” ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เนื่องจากกองทุนดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมปัญหาในหลายเรื่อง ทั้ง การบำบัด รักษา ฟื้นฟูหรือส่งเสริมป้องกัน การสนับสนุนค่าเดินทางให้ เพราะงบประมาณส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับการลงพื้นที่เยี่ยมคนไข้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม “วีระชัย ก้อนมณี” ผู้อำนวยการสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สปสช. กล่าวในตอนท้ายว่า สปสช.ให้ความสำคัญและรับฟังเสียงสะท้อนจากการรับฟังความคิดเห็นเป็นอย่างมาก ข้อเสนอจากผู้พิการในปีก่อนๆ เราได้นำไปปรับปรุง ฉะนั้นเสียงสะท้อนที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ก็จะได้นำไปสู่การพัฒนาสิทธิและบริการของผู้พิการให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต

 

ข่าวที่น่าสนใจ