15 ผลงานของอุตตมบนเก้าอี้ "ขุนคลัง" ช่วยการเงินคนไทยทั้งระบบ

by ThaiQuote, 9 กรกฎาคม 2563

"เติมเงิน SMEs - บ้านดีมีดาวน์ - ชิมช้อปใช้ - เราไม่ทิ้งกัน" ตัวอย่างผลงานของ อุตตม สาวนายน ในฐานะ "รมว.คลัง" กับวันที่เขาและเพื่อนอีก 3 คน ตัดสินใจลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ

 

การประกาศลาออกของกลุ่ม "4 กุมาร" จากพรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นข่าวใหญ่ของข่าวการเมืองสำหรับวันนี้ เพราะจะเป็นการปิดฉากการทำงานใน "พรรคการเมือง" ของ 4 อรหันต์ที่ได้ช่วยงานพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าก่อนหน้านั้น ทั้งหมดจะเคยทำงานร่วมกันกับพล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งมีอำนาจภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทั่งนำไปสู่การตั้งพรรคการเมืองเพื่อรองรับให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีโอกาสทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไปตามกลไกประชาธิปไตย และก็สำเร็จดั่งมุ่งหมายเพราะพรรคพลังประชารัฐที่เคยมีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นำทีมพาลูกพรรคลงเลือกตั้ง จะชนะการเลือกตั้งและได้ฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนหลักของกลุ่มพรรคร่วม

กลุ่ม 4 กุมาร ที่ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล จึงประกาศปิดฉากการทำงานของพรรคการเมือง จะคงไว้ในตำแหน่งรัฐมนตรีที่มอบหมายมาจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่มอบความไว้วางใจให้กับ 4 คนได้เดินหน้าทำงานด้านบริหารต่อไปก่อน ทั้งตำแหน่ง รมว.คลัง รมว.พลังงาน รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (ตามลำดับชื่อ) เท่านั้น

ทว่าแสงสปอร์ตไลท์กลางงานแถลงข่าว จะส่องมายังนายอุตตมโดยเฉพาะ เพราะเป็นคนที่เป็นแกนหลักของกลุ่ม 4 กุมาร และได้รับการไว้วางใจให้เป็นโต้โผหลักในการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ก่อนจะก้าวมาเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และล่าสุดก็ลงจากตำแหน่งทางพรรคการเมืองไป

แต่สำหรับตำแหน่งในงานด้านบริหาร ในเก้าอี้รมว.คลัง หากมองว่านายอุตตมมีผลงานดีอย่างไร คำตอบจากเลขาของเขาคือนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรมว.คลัง ก็สะท้อนภาพออกมาอย่างชัดเจนว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี นายอุตตมก็สร้างผลงานในด้านเศรษฐกิจไว้ถึง 15 ผลงานด้วยกันเป็นอย่างน้อย ดังนั้น ThaiQuote ขอนำเอาผลงานของนายอุตตม ที่ขณะนี้คือ "ฝ่ายบริหารประเทศ" ไม่ใช่ "นักการเมืองที่มีพรรคสังกัด" อีกต่อไป มาให้ผู้อ่านได้ทัศนา

1.โครงการเราไม่ทิ้งกัน - เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง (มาตรการเยียวยา 5,000 บาท)

2. โครงการบ้านดีมีดาวน์ - เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง และเป็นการช่วยกระตุ้นการลงทุนใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องไป ยังห่วงโซ่อุปทานของภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

3.โครงการชิมช้อปใช้ - เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้กับประชาชน โดยการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet)

4.มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย - เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน

5.โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส. - เพื่อเป็นค่าลงทุนในการดำเนินกิจการและเป็นค่าใช้จ่าย หมุนเวียนในการดำเนินกิจการให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม

6. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน - เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

7.มาตรการ Soft Loan ธนาคารออมสิน - เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

8. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 8 ของ บสย. - พื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน แต่มีหลักประกันไม่เพียงพอให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

9.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติด เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. Soft Loan ของ ธปท. - เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานต่อไปได้ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19

10.พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. BSF ของ ธปท. - เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ ในตลาดแรกให้ทำงาน ได้เป็นปกติ โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของ COVID-19 ให้สามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้

11.พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 (มติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563)

12.มาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 (มติ ครม. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563)

13.มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระยะที่ 1 (มติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563)

14.มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระยะที่ 2 (มติ ครม. 24 มีนาคม 2563)

และ 15.มาตรการอื่น ๆ อาทิ 1. การยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า และ 2.การยกเว้นอากรขาเข้ายาสูตรผสมที่ใช้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์

 

ข่าวที่น่าสนใจ

คนตัวเล็กเตรียมเฮ! ครม.เศรษฐกิจ นัดถกตั้งกองทุนช่วยเหลือ SMEs อุ้มผู้ประกอบการ

ทุกคำ “4 กุมารลาออกพลังประชารัฐ” งานพรรคสิ้นสุด งานเพื่อประชาชนเดินหน้าต่อ