รัฐบาลแห่งชาติกับคนหน้าเดิม โอกาสที่ลดทอนคันเร่งของม็อบคนรุ่นใหม่

by ThaiQuote, 13 สิงหาคม 2563

กลายเป็นประเด็นที่เริ่มลือกัน และเสียงคำลือก็ดูเหมือนว่าจะแผ่ซ่านไปมากขึ้นเรื่อยๆ บนถนนการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับประเด็น "รัฐบาลแห่งชาติ"

อดีตนักการเมือง นักการเมืองในปัจจุบัน รวมไปถึงนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ หลายคนเริ่มมีเสียงถึงการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ขึ้นมาบ้าง สาเหตุสำคัญคือจากปม "การชุมนุม" ทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษา ที่เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และแน่นอนว่าพวกเขาไม่เอา รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่กลุ่มต้านเริ่มก่อตัวและมี่จำนวนคนที่มากขึ้น กลุ่มหนุนรัฐบาล ก็ออกมาแอคชั่นกันมากตามเช่นกัน และมันจึงทำให้หลายคนกังวลอย่างมากว่าเหตุการณ์การทางการเมืองในปี 2563 อาจจะไปคล้ายกับเรื่องราวการเมืองในห้วงปี 2516 และ 2519 อันเป็นมหาวิปโยคอย่างแท้จริงของการเมืองไทย

เพื่อกันไม่ให้ต้องเกิดความรุนแรงจากปมการเมืองเฉกเช่นในอดีต การหาทางออกเพื่อจบปัญหานี้ในเร็ววัน จึงมีอยู่หลากหลายทางเลือก และหนึ่งในนั้นคือ "รัฐบาลแห่งชาติ"

(1)
คำว่า "รัฐบาลแห่งชาติ" มีความหมายในแง่การเมืองคือ การรวมกลุ่มของทุกพรรคการเมือง เพื่อจัดตั้งเป็นทีมบริหารประเทศ หรือรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลเดิม หรือฝ่ายค้าน แต่พวกเขาทั้งหมดต้องเข้ามาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาของชาติที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ทั้งภัยสงคราม ภัยพิบัติ หรืออีกหลากหลายปัญหาที่มีผลกระทบเป็นความเสียหายภาพใหญ่ และจะมีผลต่อความมั่นคงของชาติ ของประเทศ

แต่สำหรับประเทศไทย กระแสที่ต้องการรัฐบาลแห่งชาติ ก็เพราะมีกลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะชุมนุมโดยมีเนื้อหาที่ไปก้าวล่วงถึงสถาบันเบื้องสูง และทำให้คนที่มองจากมุมนอกเกรงว่าจะเป็นเรื่องอ่อนไหวที่นำไปสู่ความไม่พอใจ และอาจจะเกิดเหตุรุนแรงตามมา

การจัดสรรให้แต่ละพรรคการเมืองเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ด้วยตำแหน่งแห่งหนในรัฐบาล การมีโอกาสได้ร่างนโยบาย การกำหนดทิศทางการทำงาน การพัฒนาประเทศในระบาบของตัวเองเพื่อผสมกับภาพใหญ่ จึงเป็นเหมือนทางออกที่ดีสำหรับรัฐบาลแห่งชาติ ที่จะใช้เพื่อแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม

แต่รัฐบาลแห่งชาติใช่ว่าจะราบรื่น เพราะในทุกครั้งที่มีการเสนอ ก็ต้องมีเสียงต้านโดยเฉพาะกับพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคเบอร์ใหญ่ที่ได้จัดตั้้้งรัฐบาลเอง ก็คงไม่ยอมให้พรรคฝ่ายค้านเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารประเทศ เพราะอย่างไรคำว่า "ถูกเลือกมาโดยประชาชน" ก็เป็นเกราะชั้นดีที่จะหยุดรัฐบาลแห่งชาติเอาไว้

กระนั้น จากปัญหาทางการเมืองที่ดูว่าน่าจะยังไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น แต่การตัดไฟแต่ต้นลมด้วยรูปแบบรัฐบาลแห่งชาติจึงเป็นข้อเสนอที่ถูกเรียกร้องขึ้นมากระทั่งมีสัญญาณที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ในชั่วโมงปัจจุบัน

แต่คำถามที่ตามมา หากทว่าเกิดรัฐบาลแห่งชาติจริง ใครล่ะ? ที่จะมานำพาประเทศ

(2)
แน่นอนว่านาทีนี้คนที่เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมมีแน่ แต่ใครล่ะจะกล้ามารับเผือกร้อนชิ้นนี้ และต้องรับไปในฐานะที่มี "บารมี" มากพอจะเคลียร์ทุกปัญหาทางการเมืองได้ คำตอบหากถูกตีคลุมเงื่อนไขให้แคบลงแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีใครดีไปกว่าพล.อ.ประยุทธ์ได้เลย

แต่หากเป็นพล.อ.ประยุทธ์ ในรัฐบาลแห่งชาติ อีกนัยยะหนึ่งก็ไม่ได้การันตีได้ว่าสถานการณ์การเมืองมันจะทุเลา หรือผ่อนคันเร่งการชุมนุมลงไปได้ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมเองก็เลือกเป้ามายังพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการ "ไม่เอา"

อย่างที่วิเคราะห์กันไว้ในข้างต้น ว่าหากเกิดรัฐบาลแห่งชาติจริง แล้วใครจะมานั่งทำงานบริหารประเทศ หากทว่าชั่วโมงนี้ยังไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ ที่เสียงก่นด่าในหมู่คนรุ่นใหม่ก็ถาโถมเขาอย่างเต็มพิกัด แล้วจะเป็นใคร เพราะเป็นคนเดิมที่บริหารประเทศมากว่า 6 ปี ก็คงไม่การันตีว่าสถานการณ์มันจะนิ่งได้เร็ววัน

แต่น้อยที่สุดเชื่อได้ว่า หากหวยจะออกมาที่ทางนี้ ทางออกที่ชื่อว่ารัฐบาลแห่งชาติ เมื่อเป็นไปตามนี้ก็มองได้ว่า เพื่อเอาเสียงฝ่ายค้านมากลบเอาไว้ ดึงมาเป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาลเสีย และหวังผลต่อเนื่องว่าหากเอาฝ่ายค้านมาเป็นพวก ก็จะได้ตัดกำลังที่พรรคการเมืองขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลจะไปหนุนเพิ่มพลังให้กับม็อบคนรุ่นใหม่

แม้จะลดไฟความโกรธเคืองลงไป และอาจปล่อยให้ม็อบโดดเดี่ยวซึ่งอาจไร้พลังทางการเมืองหนุนหลังอยู่ กระนั้นก็ตาม กลุ่มนักการเมืองก็ต้องไม่หลงประเด็นว่าสิ่งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้อง และเปล่งเสียงไม่ต้องการคือเป้าหมายเดียวนั่นคือกลุ่มบิ๊กเนมในรัฐบาล ที่กุมอำนาจต่อเนื่องมาตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งตัวพี่ใหญ่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และตัวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ด้วย

เป้าหมายจึงพุ่งมายังบุคคลที่กุมอำนาจในรัฐบาล มากกว่าประเด็นภาพรวมของรัฐบาลที่กลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังเขย่าการเมืองในเวลานี้

แล้วคำถามที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะกับข้อเรียกร้องของกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้วหรือไม่ เขาเลวจริงดั่งว่า จริงหรือเปล่า?

(3)
พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ดี เลว อย่างที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ หรือฝีมือไม่ถึงในการนำพาประเทศชาติผ่านพ้นในแต่ละวิกฤตได้ดีพอ หรือเปล่า?

เมื่อมองไปทีละประเด็นถึงความไม่พร้อมของคนที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ แน่นอนว่าคนเป็นผู้นำประเทศอาจจะเจอทุกปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งนับเป็นเรื่องธรรมดา มองในแง่ของเศรษฐกิจที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กลุ่มไม่เอารัฐบาลพยายามจะกระหน่ำเรื่องนี้ แต่มองอีกด้านปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมันมาพร้อมกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลกระทบอย่างหนักหน่วงและทันที อีกทั้งมันเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ นั่นคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่พังเศรษฐกิจไม่เพียงแค่ของไทย หากแต่มันพังไปแล้วเกือบทั้งโลก

แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ใช้แก้ตัว เพราะเมื่อมีปัญหามันต้อง "แก้ปัญหา" ให้ได้ และที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์พยายามอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเพื่อให้เศรษฐกิจมันเดินหน้าต่อไปได้ รวมไปถึงการช่วยเหลือกลุ่มทั้งคนที่ตกงาน ผู้ประกอบการ แม้ว่าจะช่วยไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม

หรือในเรื่องของการเมือง หากว่ากันในแค่รัฐสภา หรืองานการเมืองตามระบอบกฎเกณฑ์ พล.อ.ประยุทธ์ ถือได้ว่าเป็นหน้าใหม่บนสมรภูมิการเมืองที่เรียกว่า "ของจริง" แต่ที่ผ่านมาเขาเองเจอทั้งคลื่นใต้น้ำ ความวุ่นวายในบ้านของคนในที่อยากแย่งชิงกันเด่นแย่งกันดัง หรือการช่วงชิงเอาเก้าอี้รัฐมนตรีจากทั้งพรรคร่วม และพรรคที่หนุนเขามาตลอดอย่างพลังประชารัฐเอง พล.อ.ประยุทธ์ ก็พยายามแก้ปัญหาให้ออกมาดีที่สุด

ขณะเดียวกัน ในแง่การแต่งตั้งหรือการดึงคนเข้ามาทำงานด้วย พล.อ.ประยุทธ์ เองก็พยายามให้โอกาสทั้งกลุ่มอำนาจเดิมที่เข้ามามีบทบาท และคัดสรรคนที่เห็นว่า "เป็นคนทำงาน" อย่างจริงจังจากวงนอกการเมืองเข้ามาช่วยงานในคณะรัฐมนตรี ทั้งการสวนกระแสการเมืองดึงทั้ง ปรีดี ดาวฉาย มาคุมก.คลัง หรือการดึงเอานักบริหารมือทองด้านพลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมไปถึงการยอมเปิดทางให้กับคนในของพรรคมีตำแหน่งแห่งหนเพื่อลดทอนความรุนแรงของคลื่นใต้น้ำของตัวเอง

สิ่งเหล่านี้คือประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ พยายามทำให้บ้านเมืองมีความสงบมากที่สุด แม้ว่าจะยังมีอีกหลายประเด็นที่อาจจะดูไม่ถูกใจของคนไทยบ้างอยู่เหมือนกัน แต่หากมองว่าภาพรวม ณ นาทีนี้ ใครจะดีกว่าพล.อ.ประยุทธ์

รัฐบาลแห่งชาติ อาจจะเป็นอีกกระแสที่ถูกจุดขึ้นมา หากทว่าสถานการณ์การชุมนุมมันเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดหย่อน และมีแนวโน้มจะไม่โสภามากขึ้นเรื่อยๆ ทางออกเพื่อยุติปัญหาด้วยการถอยของรัฐบาลเพื่อให้เกิดรัฐบาลแห่งชาติ จึงถือว่าน่าสนใจไม่น้อย แต่กระนั้นอีกด้านก็ใช่ว่าม็อบชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มนักศึกษาจะหยุดหย่อนหรือผ่อนคันเร่งลง เพราะหากตัวเลือกทางออกไม่สวยหรูอย่างแท้จริง และไม่ตรงกับเจตนาความต้องการของการชุมนุมแบบ "ยังยอมไม่ได้" ประเทศไทยก็เตรียมเผชิญกับการเมืองนอกสภาแบบยาวๆ กันได้เลย

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“บิ๊กตู่” นำทัพ ถ่ายรูปหมู่ ครม.ประยุทธ์ 2/2 หน้าตึกไทยคู่ฟ้า