สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น!“นภา-1” ดาวเทียมทัพฟ้าไทย ทะยานอวกาศสำเร็จ

by ThaiQuote, 3 กันยายน 2563

“นภา-1” ดาวเทียมทัพฟ้าดวงแรกของไทย ทะยานสู่ห้วงอวกาศสำเร็จ หลังเจอโรคเลื่อนมาแล้ว 4 รอบ พร้อมปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนอวกาศ สนับสนุนความมั่นคงของประเทศ

 

วันที่ 3 ก.ย.63 พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า เมื่อ 08.51 น. ตามเวลาประเทศไทย จรวด Vega เที่ยวบิน VV16 ของบริษัท Arianespace ได้ทำการยิงนำส่งดาวเทียมจำนวน 53 ดวง จาก 13 ประเทศ แบ่งเป็น Mirosatellite7 ดวง และ Nanosatellite 46 ดวง

 

 

ซึ่งหนึ่งในนั้นมีดาวเทียม “นภา-1” ซึ่งเป็นดาวเทียมเพื่อความมั่นคงดวงแรกของกองทัพอากาศรวมอยู่ด้วย โดยทำการยิงนำส่งจากฐานยิงจรวด Guiana Space Center, French Guiana ดินแดนของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของทวีปอเมริกาใต้

โฆษกกองทัพอากาศ ระบุว่า ดาวเทียม “นภา-1” เป็นดาวเทียมดวงแรกของกองทัพอากาศที่ยิงขึ้นสู่ชั้นอวกาศ มีภารกิจในการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ สำหรับการตรวจการณ์พื้นที่ในประเทศที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง โดยการยิงดาวเทียมนภา-1 ในครั้งนี้ ทำให้กองทัพอากาศมีครบทั้ง 3 โดเมน คือ Air Domain, Cyber Domain และ Space Domain เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนกองทัพอากาศตามยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปีเพื่อความมั่นคงและการพัฒนาประเทศในอนาคต

 

 

พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากองทัพอากาศตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อมิติความมั่นคงในอวกาศ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของชาติ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยา และนับเป็นผลประโยชน์ของชาติในการนำพื้นที่อวกาศเข้ามาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

 

 

 

 

สำหรับดาวเทียมนภา-1 (NAPA-1) เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก (Nano Satellite) ซึ่งจะถูกส่งเข้าสู่วงโคจรแบบ Low Earth Orbit ที่ระดับความสูงประมาณ 500 กิโลเมตร มีภารกิจในการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ อีกทั้งยังใช้ขีดความสามารถของดาวเทียมในการสนับสนุนงานด้านบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ เช่น การสนับสนุนข้อมูลพื้นที่จุดความร้อนเพื่อการดับไฟป่า และการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอีกด้วย

ทั้งนี้ การยิงดาวเทียม ทอ.นภา-1 ได้เลื่อนมา ตั้งแต่ ธ.ค.62เพราะจรวด Vega มีปัญหา และ ก.พ.63จากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมาเลื่อนอีกเมื่อ19 มิ.ย.และ28 มิ.ย.63 ด้วยสภาพอากาศปัญหากระแสลม ก่อนที่จะทะยานสู่ห้วงอวกาศสำเร็จในท้ายที่สุด

 

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

จีนปลื้ม! ยานสำรวจดาวอังคาร เดินทางได้ “100 ล้าน กม.” พร้อมเข้าสู่วงโคจร