“วิษณุ” แจกงาน คดี “บอส” มอบ “ดีเอสไอ” รับเป็นคดีพิเศษ

by ThaiQuote, 3 กันยายน 2563

วันที่ 3 ก.ย.2563 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วานนี้ (2 ก.ย.2563) ได้เชิญเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ชุดของ นายวิชา มหาคุณ มาพบเพื่อตกลงแบ่งงานกัน เนื่องจากคณะกรรมการชุดนายวิชามีข้อเสนอแนะเร่งด่วนมา 5 ข้อ คือ

 

1.การเร่งให้รื้อฟื้นคดีและดำเนินคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะคดีขับรถขณะเสพยาเสพติด (โคเคน) ซึ่งยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหานี้มาก่อน โดยจะให้ ป.ป.ท.ทำเรื่องส่งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2.การดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง 8 กลุ่มในความผิดทางอาญาและวินัย โดยหากเป็นตำรวจ ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติดำเนินการ ส่วนอัยการให้แจ้งคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) โดยในส่วนของอัยการนั้น ยืนยันว่า รัฐบาล หรือ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชา และมีอำนาจในการสั่งการ

ในส่วนของทนายความ จะแจ้งให้สภาทนายความดูแล ขณะที่กลุ่มบุคคลธรรมดา ได้มอบหมายให้ ป.ป.ท.ซึ่งมีอำนาจในการสอบสวน โดยหากคิดว่าเรื่องใดมีมูลสามามรถส่งต่อให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ และหากเรื่องใดเป็นคดีอาญาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ โดย ป.ป.ท.จะออกหนังสือประสานไปยังหน่วยงานที่กล่าวมา

3.ข้อเสนอแนะในเรื่องที่ไม่เป็นความผิด แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบ ซึ่งไม่มีโทษจำคุก เพราะไม่ใช่คดีอาญา แต่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง หรือกรรมาธิการ ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งเรื่องไปยังประธานสภาฯ เพื่อพิจารณาเห็นสมควรว่าเรื่องใดสามารถดำเนินการได้

4.เป็นเรื่องการมอบอำนาจ ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการมอบอำนาจและความรับผิดชอบ โดยผู้มอบอำนาจยังต้องกำกับดูแลและติดตามเรื่องที่ได้มอบไปอยู่ หากผิดก็เรียกมาสั่งใหม่ได้ ไม่ใช่มอบแล้วตัดขาดหายไป โดยเรื่องนี้จะมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนเป็นคู่มือระบุให้ชัดถึงการมอบอำนาจว่าผู้มอบหรือผู้รับมอบจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร

และ 5.การปรับปรุงแก้ไขระเบียบบางอย่าง เช่น อัยการสูงสุดมอบให้รองอัยการสูงสุดคนหนึ่งเป็นผู้รับเรื่องร้องทุกข์ แต่ก็มอบรองอัยการสูงสุดอีกคนหนึ่งทำหน้าที่สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องแทนอัยการสูงสุด แต่คดี “บอส” เป็นคนๆเดียวกันที่รับผิดชอบ ซึ่งการทำงานในส่วนนี้ไม่ควรใช้คนๆเดียวกันทำงาน เพราะจะไม่มีการคานอำนาจ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่ดีที่จะต้องแก้ไข รวมถึงการใช้ดุลยพินิจของอัยการ

“สำหรับกรอบเวลาการทำงานนั้นบางเรื่องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่บางเรื่องไม่มี เช่น การปฏิรูปกฎหมายที่ให้ชุดนายวิชาไปทำต่อ แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมีกำหนดเวลาเป็นเรื่องการสอบบุคคลทั้ง 8 กลุ่ม เพราะจะมีปัญหาการขาดอายุความได้อีก และไม่ทราบว่าจะหมดอายุความเมื่อใด เนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นความผิดทางอาญาหรือวินัย และแต่ละคดีก็มีกำหนดระยะเวลาที่ต่างกัน และบางคนอาจผิดตามมาตรา 157 แต่ถ้าเป็นคดีทุจริตเรียกรับเงินต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไม่มีอายุความ” นายวิษณุ กล่าวในตอนท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สตช. เตรียมรื้อคดี “บอส” สั่งฟ้อง 3 ข้อหา “จักรทิพย์” คุมสอบคดีเอง