“ทายาทหม่อนไหม” ปลุกคนรุ่นใหม่ต่อยอดภูมิปัญญา สร้างรายได้ชุมชน

by ThaiQuote, 4 กันยายน 2563

กรมหม่อนไหม ชูต้นแบบ Smart Farmer ภาคตะวันออก ปั้นทายาทหม่อนไหมเมืองแปดริ้ว สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านอัตลักษณ์ชุมชน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

 

นงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพให้ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี กินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน

 

 

ดังเช่นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย ที่ได้รับการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหมให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานการผลิต โดยได้รับการสนับสนุนของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี กระทั่งวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนประมาณปีละ 1.5–2 ล้านบาท และกลายเป็นต้นแบบ Smart Farmer ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก

ไม่เพียงเท่านั้น กรมหม่อนไหมยังได้พัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนลูกหลานเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในชุมชน ให้สามารถสืบทอดและต่อยอดอาชีพจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ภายใต้โครงการสร้าง “ทายาทหม่อนไหม” โดยผลปรากฏว่า สุรพงษ์ กระแสโสม คนรุ่นใหม่วัย 22 ปี ได้รับคัดเลือกเป็นทายาทหม่อนไหมชุมชน ดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2560

 

 

“สุรพงษ์” ได้รับการถ่ายทอดอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาจากตายาย ทั้งการเลี้ยงไหม สาวไหม ฟอกย้อม มัดหมี่และทอผ้า โดยที่ผ่านมาเคยเข้าร่วมการแข่งขันสาวไหมที่กรมหม่อนไหมจัดขึ้นมาตั้งแต่วัยเพียง 10 ปี พร้อมทั้งคว้ารางวัลมามากมายทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ จนปัจจุบันเขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แต่ยังคงไม่หยุดทุ่มเทให้กับอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวมาตั้งแต่อดีต

“บ้านเราปลูกหม่อนและเลี้ยงไหมพันธุ์ J 108 x นางลายสระบุรี จำนวน 8 – 10 รุ่น โดยความตั้งใจของผม คือหลังจากเรียนจบแล้วจะขยายพื้นที่สวนหม่อนแบบอินทรีย์ และชวนเกษตรกรในพื้นที่ให้ปลูกหม่อนโดยไม่ใช้สารเคมี คือเราพยายามควบคุมต้นน้ำใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มกษ. ซึ่งเราสามารถจำหน่ายเส้นไหมดิบเป็นรายได้ได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันเราก็สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำไหมสาวมือมาทอเป็นผ้าไหมลวดลายต่างๆ เช่น ลายบันไดสวรรค์ โดยจุดเด่นผ้าทอของเราคือ การใช้เส้นไหมแท้ทอทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ทำให้ได้ผ้าไหมเนื้อแน่นสวยงาม”

นอกจากนี้ทายาทหม่อนไหมเมืองแปดริ้วยังได้มุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์อัตลักษณ์ประจำชุมชน ผ่านการทอผ้าโฮล ผ้าอัมปรม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งติดตัวคนในหมู่บ้านอ่างเตย ที่ส่วนใหญ่อพยพมาจากอีสานใต้ ในจ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ มิให้สูญหายไป

 

 

 

โดยผ้าโฮลนั้นมีกระบวนการทอผ้าลายโบราณที่ยากกว่าผ้ามัดหมี่ธรรมดามาก ผ้าโฮลผืนหนึ่งขนาด 2 เมตร ใช้เวลาทอประมาณ 3 วัน โดย “สุรพงษ์” ได้ต่อยอดถอดลายดั้งเดิมที่เห็นจากอินเทอร์เน็ตมาประยุกต์ออกแบบเป็นลายผ้าใหม่ๆ ก่อนจะจำหน่ายในรูปของผ้าทอมือผืนงาม หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าถุง ฯลฯ จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “โส๊ดละออ” ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ

“ต้องขอบคุณกรมหม่อนไหมที่เข้ามาช่วยสนับสนุนพวกอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้เราเลี้ยงไหมได้ปริมาณมากขึ้น สาวไหมได้เร็วขึ้น ให้คำแนะนำเรื่องมาตรฐานของเส้นไหม ผมรู้สึกภูมิใจกับรางวัลที่ได้มาจากการพัฒนาฝีมือตัวเอง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเรามากครับ” สุรพงษ์กล่าว

และนี่คืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจของกรมหม่อนไหมที่ได้มีส่วนร่วมสร้างทายาทมาสืบทอดอาชีพการเลี้ยงหม่อนไหมในแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน และร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามด้านหม่อนไหมให้คงอยู่ต่อไป

 

ข่าวที่น่าสนใจ

“ทุเรียน” ความหวังของคนนราธิวาส กับการได้ “ลืมตาอ้าปาก” กันเสียที