“ปะการังเทียม” จากหินปูน “พิมพ์ 3 มิติ” ถอดแบบเป๊ะๆ จากธรรมชาติ

by ThaiQuote, 8 กันยายน 2563

โซลูชันใหม่! “ปะการังเทียม” ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สร้างจากหินปูนเสมือนของจริงใกล้เคียงธรรมชาติ ช่วยฟื้นฟูแนวปะการังในทะเลอย่างยั่งยืน

สื่อต่างประเทศนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจในประเด็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรใต้ทะเล กับโครงการวิจัย สร้าง “ปะการังเทียม” ที่ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ลักษณะเสมือนจริง ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการฟื้นฟูแนวปะการัง

โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า “Coral Carbonate” เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง “ปะการังเทียม” ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติจากแคลเซียมคาร์บอเนต หรือหินปูน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง "บ้าน" ใต้น้ำที่ยั่งยืนสำหรับแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเลที่จะเติบโต พัฒนาโดย Objects and Ideograms ของ US design workshop

 


ความน่าสนใจของโปรเจกต์นี้มาจากวัตถุที่ใช้ซึ่งเป็นหินปูนจริงเช่นเดียวกับปะการัง ผ่านกระบวนการพิมพ์ 3 มิติ มีรูปร่างทรงกระบอกที่มีรูพรุนและพื้นผิวที่ที่จำลองมาจากปะการังธรรมชาติ โดยแคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน) จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของปะการัง

อเล็กซ์ ชอฟิลด์ สถาปนิกและนักเทคโนโลยีการออกแบบ ผู้ดูแลโครงการ อธิบายว่า ด้วยอุณหภูมิของน้ำในทะเลที่สูงขึ้น ทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเลกำลังถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว “Coral Carbonate” จะเป็นเหมือน “บ้าน” หรือชุมชนใหม่ ที่สิ่งมีชีวิตในทะเลจะใช้ประโยชน์จากปะการังเทียมนี้ ซึ่งมีความใกล้เคียงกับบ้านของจริงตามธรรมชาติเป็นอย่างมาก


ทั้งนี้ แนวคิด “ปะการังเทียมจากหินปูน” ริเริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน หลังจากอเล็กซ์ ชอฟิลด์ ได้เห็นถึงปัญหาว่าแนวปะการังทั่วโลกกำลังประสบกับการทำลายล้างอย่างไม่เคยมีมาก่อนจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของการสร้างแนวปะการังเทียม คือ วัสดุที่ใช้ไม่มียั่งยืนต่อระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งการคิดค้นและประยุกต์ใช้แคลเซียมคาร์บอเนตจะเป็นโซลูชันที่เหมาะสม เพราะตามธรรมชาติส่วนที่เป็นหินปูนของปะการังเกิดจากสร้างชั้นหินปูนมาเคลือบลำตัวโดยอาศัยแคลเซียมจากน้ำทะเล ทำให้โครงสร้างภายนอกแข็งแรง ค่อยๆ สะสมจนเกิดเป็นแนวปะการังขึ้นมา


ซึ่งงานวิจัยชี้ว่า ในอนาคตมีโอกาสเป็นไปได้ ที่ “Coral Carbonate” จะกักเก็บคาร์บอนได้เหมือนกับปะการังจริงๆ และส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของแนวปะการังได้

ที่มา : dezeen

 

เรื่องที่น่าสนใจ