สปสช. ย้ำ ล็อต 3 ยกเลิกอีก 108 แห่ง รักษาต่อ รพ.ในระบบ ไม่ต้องลงใหม่

by ThaiQuote, 30 กันยายน 2563

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้แจงมาตรการรองรับประชาชนผลกระทบกรณียกเลิกสัญญาคลินิกเอกชนเพิ่ม 108 แห่ง แนะไม่ต้องลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ รักษาต่อได้ที่ รพ.ในระบบบัตรทองทุกแห่ง

 

เมื่อวันที่ 29 ก.ย.63 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แถลงข่าว “สปสช.สร้างความมั่นใจประชาชน แจงแนวทางบรรเทาผลกระทบประชาชนสิทธิบัตรทอง กทม. ก่อนยกเลิกสัญญาหน่วยบริการมีผล 1 ต.ค. นี้”

โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. ได้ตรวจสอบหน่วยบริการเอกชน (คลินิกและ รพ.เอกชน) ล็อตที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้แจ้งความและยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการเอกชนจำนวน 108 แห่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้น

หลังจากที่ได้ดำเนินการรกับคลินิกเอกชน 2 ล็อต แรก จำนวน 18 แห่ง และ 64 แห่ง ซึ่งในจำนวนประชาชนที่ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการดังกล่าวนั้น มีประชาชนสิทธิบัตรทองประมาณ 3 - 4 แสนคน ที่เข้ารับบริการและได้รับผลกระทบ เป็นกลุ่มที่ สปสช. ต้องเร่งดูแลและอำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุดภายใต้บริการที่จำกัดของหน่วยบริการที่มีอยู่ โดยให้เข้ารับบริการต่อเนื่องได้ที่หน่วยบริการรัฐ และ รพ.เอกชน ในระบบบัตรทองได้ ไม่ต้องลงทะเบียนหน่วยบริการประจำ ไม่ต้องมีใบส่งตัวและไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

 

ในส่วนของผู้ป่วยเร่งด่วน อาทิ ผู้ป่วยไตวาย ผู้ป่วยผ่าตัด หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น สปสช.ได้ติดต่อและประสานไปยังโรงพยาบาลในการรักษาต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่ง สปสช.ได้ประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุขในการเข้ารับบริการและยาต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

จากการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการเอกชนในพื้นที่ กทม.ครั้งนี้ สปสช.ขอย้ำว่าสิทธิบัตรทองของประชาชนยังอยู่ เป็นการยกเลิกสัญญาคลินิกและ รพ.เอกชน แม้ว่าทำให้ประชาชนไม่มีหน่วยบริการประจำ แต่ประชาชนไม่ต้องมาลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ เพราะท่านจะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใดก็ได้ในระบบบัตรทองในระหว่างนี้

ซึ่ง สปสช. ได้เตรียมสื่อสารทำความเข้าใจประชาชน นอกจากเชิญตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ใน กทม. มารับฟังการชี้แจงและทำความเข้าใจกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้บริหาร สปสช. ยังได้พบผู้อำนวยการสำนักงานเขตต่างๆ ในพื้นที่ กทม. เพื่อชี้แจงข้อมูล

นพ.ศักดิ์ชัย ย้ำว่า การยกเลิกสัญญาคลินิกเอกชนเพิ่มในวันนี้มีต้นเหตุ ไม่ทำไม่ได้ เมื่อเกิดผลกระทบกับประชาชน สำนักงานฯ ต้องเร่งเข้าไปดูแล เพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่ตื่นตระหนก และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งขอย้ำว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ต้องไปลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ แต่ให้นำบัตรประชาชนไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลในระบบบัตรทองได้

โดยตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมได้ที่ www.nhso.go.th รวมถึงเอกสารประชาสัมพันธ์ที่ สปสช.กำลังกระจายให้ชุมชน ขณะนี้ สปสช.เร่งดำเนินการหาหน่วยบริการใหม่เพื่อให้ประชาชนได้เลือกลงทะเบียน โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ เพื่อให้การบริการเข้าสู่ระบบเดิมโดยเร็ว ต้องขอโทษประชาชนจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้”

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดจากการทุจริตและทำเป็นกระบวนการ เมื่อขยายการตรวจสอบทำให้พบหน่วยบริการที่มีความผิดคล้ายกัน ทำให้ สปสช. ต้องดำเนินการเป็นมาตรฐานเดียว ทั้งคลินิกเอกชน 18 แห่ง 64 แห่ง และ 108 แห่ง

โดย สปสช.ได้ตรวจสอบคลินิกเอกชนที่ร่วมคลินิกชุมชนอบอุ่นเรียบร้อยแล้ว และคงไม่มีมากกว่านี้ ซึ่ง สปสช.จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิในการรักษาและคัดกรอง รวมถึงเงินภาษีของประชาชน แม้ว่าจะทำให้ให้ประชาชนขาดหน่วยบริการประจำดูแล แต่สิทธิบัตรทองของท่านยังอยู่

อย่างไรก็ตาม วันนี้สิทธิบัตรทองยังอยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิก เพียงแต่ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่มีหน่วยบริการประจำหรือหน่วยบริการรับส่งต่อ เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เข้ารับบริการที่ใดก็ได้ ซึ่งมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 3 แสนคน ส่วนอีก 1.7 ล้านคนยังไม่มีผลกระทบ โดยขอให้ประชาชนส่วนนี้ยังไม่ต้องเร่งลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการใหม่ที่หน่วยบริการ เพราะจะทำให้หน่วยบริการเกิดความหนาแน่นและการบริการล่าช้าได้ หากต้องการตรวจสอบสิทธิสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้

“สปสช.อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครหน่วยบริการใหม่ทดแทน โดยลดขั้นตอนและปรับเกณฑ์การประเมินที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อคุณภาพ ซึ่งเมื่อได้หน่วยบริการแล้วจะเปิดให้ประชาชนเลือกหน่วยบริการประจำได้” นพ.การุณย์กล่าว

ด้าน นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า จากการตรวจสอบคลินิกเอกชนในรอบแรก 18 แห่ง ทำให้ สปสช.ต้องขยายการตรวจสอบ รวมถึงคลินิกเอกชนที่เหลือ 108 แห่ง และพบว่ามีพฤติการณ์เช่นเดียวกันที่เป็นการเบิกจ่ายเท็จ

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอาญา เพราะเป็นเจตนาทำผิดโดยทำเอกสารเบิกเท็จ ไม่ใช่ความผิดพลาด เป็นการทุจริตเงินภาษีประชาชน สปสช.จึงต้องแจ้งความคลินิกเอกชนทั้งหมด โดยดำเนินการกับ

1.ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล

2.ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

3.ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ขณะเดียวกัน สปสช. เองต้องยกเลิกคลินิกเหล่านี้จากระบบเพราะเป็นการทำผิดสัญญา ทำให้ความเป็นหน่วยบริการของคลินิกในระบบสิ้นสุดลง

“การบอกเลิกสัญญากับคลินิกเอกชน 108 แห่ง แม้ประชาชนได้รับผลกระทบไม่มีหน่วยบริการประจำก็จำเป็นต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นทั้ง สปสช. และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จะถือเป็นปฏิบัติสองมาตรฐาน ซึ่ง สปสช.กำลังแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบอยู่” นายจิรวุสฐ์ กล่าว

 

 

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง