“โพล”ชี้ ปชช.ค้าน “เพื่อไทย”ร่วมรัฐบาล หวั่นปัญหาเยอะ ยังหนุน “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ

by ThaiQuote, 4 ตุลาคม 2563

“นิด้าโพล” ชี้ปชช.ไม่เห็นด้วย เพื่อไทย ร่วมรัฐบาล เหตุจุดยืนต่างกัน ยังหนุน “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯต่อ เชื่อ "เพื่อไทย" ปรับทัพเหมาะสถานการณ์ บางส่วนมองอาจเป็นสัญญาณยุบสภา

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความเคลื่อนไหว พรรคเพื่อไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29-30 ก.ย. 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,316 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย (เช่น การลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และการลาออกจากหัวหน้าพรรค ของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์) พบว่า


ส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.16 ระบุว่า เป็นแค่การปรับเปลี่ยนทั่วๆ ไปของพรรค เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

รองลงมา ร้อยละ 19.30 ระบุเป็นการส่งสัญญาณว่าอาจมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่เร็วๆ นี้

ร้อยละ 9.27 ระบุว่า เป็นกลลวงทางการเมืองของพรรค ในการเอาชนะรัฐบาล

ร้อยละ 8.36 ระบุว่า คนในตระกูลชินวัตรจะเข้ามาควบคุมพรรคเอง

ส่วนร้อยละ 7.14 ระบุว่า เป็นสัญญาณว่าพรรคเพื่อไทยกำลังจะแตก

ร้อยละ 6.00 ระบุว่า พรรคกำลังมีข้อตกลงปรองดองกับรัฐบาล

ร้อยละ 4.71 ระบุว่า พรรคเตรียมเข้าร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ร้อยละ 3.65 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าพรรคฯ ไม่สนับสนุนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ร้อยละ 0.23 ระบุว่า อื่นๆ ได้แก่ มีการเตรียมตัวเพื่อลงสมัครการเมืองท้องถิ่น และเกิดความขัดแย้งภายในพรรค

ร้อยละ 17.25 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชน หากพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า
ร้อยละ 15.88 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะได้ช่วยกันบริหารประเทศให้ดีขึ้น เนื่องจากพรรคเพื่อไทย มีประสบการณ์การทำงานทางการเมืองมานาน

ร้อยละ 16.41 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง สร้างการปรองดอง

ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ดีขึ้นได้

ร้อยละ 16.87 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมีแนวทางการทำงานทางการเมืองไม่เหมือนกัน มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้ทำงานร่วมกันได้ค่อนข้างยาก

ร้อยละ 49.09 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะแนวคิด จุดยืนทางการเมือง การทำงานมีความแตกต่างกัน ซึ่งถ้าเข้าร่วมอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้

ร้อยละ 1.75 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน หากพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่นายกรัฐมนตรีไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า

ร้อยละ 24.09 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะจะได้มีการแก้ไขปัญหา พัฒนา เปลี่ยนแปลง การเมืองไทยร่วมกัน ซึ่งจะสามารถทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ร้อยละ 22.11 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะจะได้มีการบริหารจัดการปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขณะที่บางส่วนระบุว่า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบ้าง

ร้อยละ 14.51 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้ยาก ยังต้องการให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ ร้อยละ 37.54 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะแนวทางการทำงาน อุดมการณ์แตกต่างกัน ต้องการให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคอื่นร่วม เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองของพรรคอย่างชัดเจน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร้อยละ 1.75 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ.

 


ข่าวที่น่าสนใจ

“CG”ใช้นวัตกรรมสร้างบ้าน "Upcycling" หวังลดขยะให้ได้ ภายในปี 2030