เปิดข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขต กทม.

by ThaiQuote, 15 ตุลาคม 2563

วันนี้ (15 ต.ค.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบกับมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยระบุว่า

 

ตามที่ได้มีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค.2563 นั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคหก มาตรา 11 และมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ข้อ 2 ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้เผยแพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร

ข้อ 3 ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะโดยมีเงื่อนไข ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

ข้อ 4 ห้ามใช้ เข้าไป หรืออยู่ในอาคารหรือสถานที่ใด ๆ และให้ออกจากอาคาร หรือสถานที่ใด ๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

ข้อ 5 ในการดำเนินการตามข้อ 3 ถึงข้อ 4 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินความสมควรแก่เหตุก็ได้

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังลงนามในประกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีรายละเอียดว่า

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค.2563 นั้น

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยปฏิบัติตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ข้อ 2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อนคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

ข้อ 3 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารหรือการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ อาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทำการ ส่งเสริม หรือสนับสนุนนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

ข้อ 4 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็วและหากปล่อยเนินช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงนั้นได้ทันท่วงที

ข้อ 5 ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลกระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการกรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน

ข้อ 6 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการ ห้ามกระทำการอย่างใด ๆ ที่เป็นการปิดการจราจร ปิดเส้นทางคมนาคม หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้ไม่อาจใช้เส้นทางคมนาคมได้ตามปกติในเขตพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ข้อ 7 ในการดำเนินการของพนักงานเจ้าที่ตามประกาศให้ใช้มาตราการตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยระมัดระวังมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร
ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศนี้ได้ตามที่เห็นสมควร
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 15 ต.ค.2563

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯตั้ง “ประวิตร” คุม “ผบ.ตร.” จัดการม็อบ มีอำนาจสั่งทหาร-ตร.-ขรก.