บทเรียนปฏิรูปสยาม “ให้ทันสมัย” ในรัชกาลที่ 5 เพื่ออนาคตประชาชน

by ThaiQuote, 23 ตุลาคม 2563

“อนุสรณ์” ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ นำเสนอบทเรียนปฏิรูปสยามให้ทันสมัยในรัชกาลที่ 5 เพื่ออนาคตประชาชน และทางออกวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และการเมือง

 

นาย อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า เนื่องในวาระครบรอบ 110 ปี ของการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือวันปิยมหาราช และ เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ห้าทั้งในพระราชกรณียกิจในการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย การยกเลิกระบบทาสและระบบไพร่ รวมทั้ง การดำเนินวิเทโศบายให้ “สยาม” รอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมแบบเต็มรูปของจักรวรรดินิยมตะวันตก สังคมไทยควรร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วยการปฏิรูปอย่างรอบด้าน เริ่มต้นด้วยการหยุดคุกคามผู้เห็นต่างและยัดคดีและข้อหาต่างๆต่อเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ เปิดเวทีรัฐสภาเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการไม่แบ่งฝักฝ่ายทางการเมือง จัดเวทีสานเสวนาในการหาทางออกปัญหาวิกฤติต่างๆร่วมกัน ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยในการจัดเวทีสานเสวนาเพื่อปรึกษาหารือกันนี้ควรจัดโดยหน่วยงานที่มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีจุดยืนประชาธิปไตย สถาบันปรีดี พนมยงค์ยินดีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพระปกเกล้าภายใต้รัฐสภา และ สถาบันการศึกษาต่างๆจัดเวทีการหารือเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า ช่วงสมัยของรัชกาลที่สี่ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ห้า เป็นยุคล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก ประเทศรอบข้างล้วนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศส ด้วยพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่สี่และรัชกาลที่ห้า ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สยามปิดจุดอ่อนของประเทศในแถบนี้ที่ตะวันตกใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างหลายๆข้อทำให้ประเทศเป็นเมืองขึ้นด้วยเหตุผลล้าหลัง ป่าเถื่อน และไม่ทันสมัย การปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นส่วนผสมของพระปณิธานในการปฏิรูปสยามบวกกับสภาพแวดล้อมภายนอกบีบบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ปรับปรุงระบบศาล ปฏิรูประบบราชการ รวมศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่ส่วนกลาง ทรงประกาศเลิกทาส สร้างทางรถไฟและระบบคมนาคมทันสมัย จัดตั้งหน่วยงานไปรษณีย์โทรเลข การปฏิรูปให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ห้าไม่ได้ทำแบบเร่งรีบและใช้เวลายาวนานถึง 35 ปี และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบางระดับของโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง ขณะที่เปิดโอกาสให้เกิดการเติบโตของชนชั้นขุนนางหรือข้าราชการยุคใหม่ และ ชนชั้นพ่อค้า ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมวงศ์ชั้นสูง 4 พระองค์ และข้าราชการของสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนและกรุงปารีส 7 ท่าน ซึ่งได้ไปเห็น ความเจริญความมีอารยธรรมของฝรั่ง จึงมีหนังสือลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2427-2428 (ร.ศ. 103) กราบทูลรัชกาลที่ห้าให้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ท่านเหล่านั้นคือ กรมพระยานเรศวรฤทธิ์ พระยาชนินทรภักดี (เปลี่ยน หัสดิเสวี) พระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี) กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระยามหาโยธา (นกแก้ว คชเสนี) กรมพระสวัสดิ์วัดนวิศิษฏ์ พระยาอภัยพิพิธ (สุ่น สาตราภัย) จมื่นไวยวรนาถ (บุศ เพ็ญกุล) พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้องเพชร์) ขุนปฏิภาณพิจิตร์ (หรุ่น) ปรากฏว่าการเรียกร้องครั้งนั้นไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก เพราะรัชกาลที่ห้าทรงเห็นว่าประเทศสยามยังไม่พร้อม แต่พระองค์ท่านก็ทรงดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมและวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยที่จะได้รับสถาปนาขึ้นในระยะต่อมา และ ภารกิจการปฏิรูปประเทศปรากฏผลชัดเจนตลอดช่วงเวลา 42 ปีแห่งการครองราชย์ของรัชกาลที่ห้า แต่การปฏิรูปประเทศได้เข้าสู่สภาวะ แห่งความยุ่งยากซับซ้อนในสมัยรัชกาลที่หก นักวิชาการส่วนใหญ่มองความสำเร็จ

นอกจากนี้ ในการปฏิรูปสยามสมัยรัชกาลที่ห้าว่าเป็นต้นแบบและเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศมีความทันสมัยก้าวหน้าขึ้น และ ทำให้หลุดพ้นจากภัยของจักรวรรดินิยมจากยุโรปและทำให้เรารักษาเอกราชไว้ได้ นักวิชาการจีนในยุคนั้นอย่าง “เหลียง ฉี่ เชา”“เชียะ ฝู เฉิง” ยกย่องให้จีนเอาไทยเป็นแบบอย่าง และ กล่าวถึงสยามอย่างยกย่องว่า “แม้นถูกรุมเร้าสยามก็ยืดหยัดอย่างภาคภูมิ” ขณะที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งมีแง่มุมที่แตกต่าง งานวิจัยประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์วิจารณ์ของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สุธี ประศาสน์เศรษฐ และ นอร์แมน จาคอบส์ ตลอดจนถึงงานวิชาการของนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกอย่าง เบเนดิก แอนเดอร์สัน มองการปฏิรูปว่าเป็นส่วนหนึ่งขอความต้องการในการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมีความมุ่งหมายเพื่อรักษาอำนาจของระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จึงอาจเป็นการตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้ปกครอง มากกว่า ผลประโยชน์ของประชาชนโดยทั่วไป ความเห็นในลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ “พระสารสาสน์พลขันส์” ได้วิจารณ์ว่า การปฏิรูปในสยามจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อฐานะกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์จึงมีการพลักดันให้มีการปรับปรุง ขณะที่การรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อความเป็นเอกภาพแห่งชาติถูกท้าทายโดยอำนาจของชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ
เมื่อกรุงเทพฯ และ อำนาจจากส่วนกลางได้ยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงานและนำระบบภาษีรัชชูปการมาใช้แทน ได้ก่อให้เกิดแรงปฏิกิริยาต่อต้านในดินแดนทางเหนือและอีสาน บรรดาอดีตเจ้าเมืองบางส่วนก็อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวเหล่านี้

นายอนุสรณ์ กล่าวถึงรัชกาลที่ห้ามีแรงจูงใจหลายประการในการดำเนินการปฏิรูปแม้นจะมีความยากลำบาก ประการหนึ่งต้องการกระชับอำนาจและทำให้ฐานอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าที่มีความเชื่อแบบโบราณอ่อนแอลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2411 โดยมีพระชนม์มายุเพียง 15 พรรษา ขณะนั้นการปกครอง ส่วนใหญ่อยู่ในมือของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะแล้วจึงทรงพยายามที่จะรวบรวมอำนาจที่อยู่ในมือของขุนนางมาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ใน พ.ศ. 2413 หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ 2 ปี พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานทางอำนาจด้วยการตั้งกรมทหารมหาดเล็กขึ้น เพื่อสร้างฐานพระราชอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และ ใน พ.ศ. 2416 ได้ออกพระราชบัญญัติ หอรัษฎากรพิพัฒน์รวบรวมการเก็บภาษีเข้าสู่ศูนย์กลาง

ประการที่สอง พื้นฐานทางศีลธรรมและความเชื่อว่า ความทันสมัยจะนำมาสู่ ความรุ่งเรืองของสยาม มีการออกพระราชบัญญัติรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง มีการจัดทำงบประมาณ มีการให้สัมปทานผูกขาดการค้าฝิ่น บ่อนเบี้ย ซึ่งเป็นการทำลายกลุ่มผลประโยชน์ที่ฉ้อราษฎรบังหลวง เลิกระบอบทาสและไพร่ซึ่งเท่ากับการยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงานอันเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญของกลุ่มขุนนางเก่า มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาในพระองค์ และ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจในการออกกฎหมายให้คำปรึกษาและตรวจสอบ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่ม ทั้งที่เป็นพระอนุชาและสหาย เป็นการถ่วงดุลอำนาจกับขุนนางอนุรักษ์นิยมหัวโบราณ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ได้กล่าวถึง การปฏิรูปให้ทันสมัยและการยกเลิกระบบไพร่ทาสทำให้เกิดพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในระยะต่อมา ขบวนการทหารประชาธิปไตย ร.ศ. 130 และ การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ล้วนเป็นพัฒนาการต่อเนื่องจากการปฏิรูปครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2440 ทั้งสิ้น บทเรียนจากการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ห้าสำหรับประเทศในปัจจุบันและอนาคต มีดังต่อไปนี้

บทเรียนข้อที่หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงใดๆเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวมต้องรักษาความสมดุลระหว่าง “ความคิดก้าวหน้าและสอดคล้องกับยุคสมัย” กับ “จารีตประเพณี” และ “บริบททางด้านภูมิหลังของประเทศ” การทำลายสิ่งเก่าโดยสร้างใหม่ทั้งหมดจึงไม่อาจกระทำได้ และ ไม่ควรกระทำเพราะจะนำไปสู่สิ่งที่ไม่แน่นอน มีความเสี่ยงเข้าสู่สภาวะไร้เสถียรภาพและอนาธิปไตยได้ เช่นเดียวการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องหลอมรวมทุกแนวความคิดในสังคมไทยให้มีพื้นที่ของตัวเอง สังคมจึงดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีสันติธรรม

บทเรียนข้อที่สอง ผู้นำและกลุ่มผู้นำต้องมีความกล้าหาญ เสียสละและการเล็งเห็นผลประโยชน์ของสาธารณะสำคัญกว่าผลประโยชน์ของตัวเองและเครือข่าย

บทเรียนข้อที่สาม การต่อสู้เรียกร้องตามความเชื่อทางการเมืองแบบใดก็ตามต้องยึดหลักเอกราช หลักอธิปไตยและบูรณาการแห่งดินแดนรวมทั้งความปรองดองสมานฉันท์ของเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน

บทเรียนข้อที่สี่ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งดีกว่าในหลายกรณีต้องอดทนและใช้เวลายาวนานในการปรับเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงหรือผลกระทบข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์

บทเรียนข้อที่ห้า การมียุทธศาสตร์ กุศโลบาย กลยุทธที่ดีและมุ่งผลประโยชน์สาธารณะของผู้นำและกลุ่มชนชั้นนำ

บทเรียนข้อที่หก หากชนชั้นนำปฏิเสธไม่ยอมปฏิรูปเปลี่ยนแปลง หรือไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง หรือ ปฏิรูปแบบมีส่วนร่วมให้เท่าทันกับพลวัต ขบวนการความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และ ไม่มีใครเอาชนะพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่นได้ การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังการปฏิวัติของประชาชนทำให้คาดการณ์อนาคตทำได้ยากว่าผลจะเป็นอย่างไร

บทเรียนข้อที่เจ็ด พลังที่ก้าวหน้ากว่าของคนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่ ต้องหลอมรวม พลังอนุรักษ์นิยมของคนรุ่นเก่าเอาไว้ด้วยจึงทำให้การปฏิรูปสำเร็จ หากคิดเอาชนะกันแบบหักหาญหรือใช้อำนาจบีบบังคับเช่นเดียวกับที่อำนาจรัฐกระทำต่อผู้เห็นต่างหรือขบวนการประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวย่อมไม่นำไปสู่สังคมที่พึงปรารถนาและมีเสถียรภาพ

บทเรียนข้อที่แปด การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมีความจำเป็นต่อบริบทของสยามในยุครัชกาลที่ห้า แต่การรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกและของไทยในปัจจุบันและอนาคต การกระจายอำนาจทางการเมืองการปกครอง อำนาจทางการคลัง อำนาจในการจัดการทรัพยากรให้กับชุมชนจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆให้กับประชาชนได้ดีขึ้น การแช่แข็งไม่ให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเวลากว่า 6 ปี เป็นการทำลายรากฐานของประชาธิปไตยในระดับพื้นที่ การกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปลายปีนี้จึงเป็นสิ่งที่เป็นความหวังในการที่ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่เส้นทางแห่งการกระจายอำนาจกระจายโอกาสให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากหยุดชะงักไปหลายปี

นายอนุสรณ์ ทิ้งท้ายว่า การยกเลิกประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแต่ช้าเกินไป เพราะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้สร้างความเสียหายต่อหลักการปกครองโดยนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน ความเสียหายทางการเมือง การบริหารประเทศและเศรษฐกิจโดยรวมได้เกิดขึ้นแล้ว หากดันทุรังต่อไปก็จะยิ่งสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้นเพราะ ประกาศ พ.ร.ก. ฉุนเฉินที่มีความร้ายแรงไม่สามารถบังคับใช้ใครได้เนื่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมของรัฐบาลหรือปฏิเสธการบังคับใช้กฎหมายอันไม่เป็นธรรมแล้ว รัฐบาลที่ไม่มีศรัทธาจากประชาชนจะบริหารประเทศด้วยความยากลำบาก ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องสร้างศรัทธาต่อประชาชนด้วยการกระทำที่ไม่หลอกลวง ผลักดันการปฏิรูปและการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจึงช่วยบรรเทาความเสียหายและหวังว่าจะเกิดทางออกจากวิกฤติได้ในอนาคต รัฐบาลต้องแก้ไขความผิดผลาดในการตัดสินใจด้วยการเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและผู้ได้รับผลกระทบและเสียหายทั้งหมดรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐด้วย นอกจากนี้ควรปล่อยเยาวชนจากการคุมขังและให้ประกันตัวผู้ที่กระทำผิดจากการประกาศ พรก ฉุกเฉินอันไม่มีความชอบธรรมด้วย

อีกทั้ง รัฐบาลต้องกำกับควบคุมไม่ให้ “กลุ่มมวลชน” หรือ “ผู้นำกลุ่มมวลชน” ที่ใกล้ชิดรัฐมนตรีบางท่านหรือใกล้ชิดขั้วทางการเมืองอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่นิยมความรุนแรง ก่อความรุนแรง หรือ ยั่วยุให้ก่อความรุนแรง ก่อเหตุทำร้ายเยาวชนคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นอนาคตของชาติอีก หรือวางแผนให้เกิดการปะทะกันของมวลชนที่เห็นต่างเพื่อสร้างเงื่อนไขในการก่อการยึดอำนาจรัฐประหารนอกวิถีทางแห่งกฎหมายกันอีกเป็นครั้งที่ 16 ในประวัติศาสตร์ชาติไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัฐบาลมีหน้าที่ประกันความปลอดภัยให้กับทุกกลุ่มทางการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวตามสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การรัฐประหารหากเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยติดอันดับที่หนึ่งของโลกในการมีรัฐประหารมากที่สุดในรอบ 88 ปี และ ประเทศไทยของเรานั้นจะเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการมีรัฐประหารมากที่สุดในช่วง 20 แรกของของศตวรรษที่ 21

“ในช่วงกว่า 14 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2549-2563) เราสูญเสียทรัพยากร สูญเสียความรักที่มีต่อเพื่อนร่วมชาติ เราสร้างความเกลียดชังต่อกันเพียงแค่เห็นต่างทางการเมือง บาดเจ็บล้มตายจากความขัดแย้งทางการเมือง เราสูญเสียเวลา สูญเสียโอกาสอย่างมากมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เราขาดโอกาสในการผลักดันความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เราจึงต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านเพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆเช่นเดียวที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า” นายอนุสรณ์ กล่าว

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ด่วน! พบหญิงฝรั่งเศสติดเชื้อ "โควิด-19" ที่ เกาะสมุย 1 ราย หลังกักตัว 14 วันเเล้ว