ชวน เผย 2 โมเดลปรองดอง เตรียมเรียกฝ่ายค้าน-รบ.หารือ

by ThaiQuote, 2 พฤศจิกายน 2563

ชวน เปิด 2 โมเดลปรองดองจากสถาบันพระปกเกล้า แบบที่ 1 มีผู้แทนจาก 7 ฝ่าย แบที่ 2 เลือกจากคนกลาง โดยมีคณะกรรมการสรรหา ด้าน ส.พระปกเกบ้า แนะ คณะกรรมการควรมี 7-9 คน

 

ผู้สื่อข่ารายงานว่า วันนี้ (2 พ.ย.63) ที่สถาบันพระปกเกล้าฯ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและผู้บริหารสถาบันฯทั้งหมด แถลงข่าวภายหลังการหารือเพื่อออกแบบโครงสร้างและวิธีการทำงานของคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์

ทั้งนี้นายชวน เปิดเผยว่า จากที่ได้ให้ทางเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปศึกษารูปแบบองค์ประกอบของงานที่จะต้องทำในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยขอให้สถาบันติดตามงานจากนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ว่ารูปแบบที่เสนอมานั้นเป็นอย่างไร

โดย เลขาสถาบันฯได้มีการเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาเป็น 2 รูปแบบ โดยรูปแบบที่ 1 เป็นไปตามที่นายจุรินทร์ เสนอคือมีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆรวม 7 ฝ่าย เช่นส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนของวุฒิสภา และตัวแทนขององค์กรอื่น แต่ก็มีจุดอ่อน คือหากฝ่ายใดปฏิเสธไม่ร่วมองค์ประชุมก็จะไม่ครบ หรือการหารือพูดคุยกันไม่นานก็อาจจะล่มได้ รวมทั้งถ้ามองผิวเผิน จะมีแค่ฝ่ายรัฐบาลกับวุฒิสภา เป็นเสียงส่วนใหญ่ถือว่าน่ากังวล

ส่วนรูปแบบที่2 มีคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่ากรรมการที่เราจะไปทาบทามจะรับหรือไม่

สำหรับในวันพรุ่งนี้ (3 พ.ย.63) ตนจะนำเอาทั้ง 2 รูปแบบไปร่วมพูดคุยกับผู้นำฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐาลเป็นการภายใน โดยหากตามรูปแบบที่ 1 เป็นไปไม่ได้ ก็จะต้องเลือกใช้รูปแบบที่ 2 หรือนำเอารูปแบบที่ 1 และ 2 มาประสานกัน โดยในส่วนของตัวบุคคล อาจต้องไปถามตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ หรือคนนอกจะมาร่วมด้วยหรือไม่ เพราะจะต้องเลือกบุคคลในจำนวนไม่มาก แต่มีประสิทธิภาพ เข้าใจปัญหา

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวได้ประสานกับอดีตผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี 3 คน อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็พร้อมจะร่วมด้วยถ้ามีโอกาส ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากการที่คนส่วนใหญ่ในประเทศอยากเห็นบ้านเมืองสงบ วิธีไหนทำให้บ้านเมืองสงบได้เราก็จะพยายามทำตามวิธีนั้น

ด้าน สถาบันพระปกเกล้า ได้เผยแพร่เอกสารระบุถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยมีรายละเอียดว่า จำนวนกรรมการที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 7-9 คน โดยรูปแบบที่ 1 ผู้แทนจากฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งในรูปแบบนี้ มีข้อห่วงกังวล คือ

1.ตัวแทน 7 ฝ่าย อาจมีองค์ประกอบที่ไม่สมดุล น้ำหนักเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาล ทำให้มีกรรมการจะไม่ได้รับความไว้วางใจ

2.ต้องระมัดระวังในการจัดหาผู้เอื้อกระบวนการ ซึ่งควรเป็นคณะทำงานจากหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วน ไม่ควรผูกขาด, การจัดวาระการประชุมและการยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการ

3.โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านไม่ร่วมมีสูง และ 4.การหาตัวแทนฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นไปได้ยาก

ส่วนรูปแบบที่ 2 การมีคนกลางนั้น มีข้อดีคือ ทำให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ของการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ ส่วนข้อห่วงกังวลคือการยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการและกรรมการ

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

“ไพบูลย์” เสนอ ทำประชามติ 52 ล้านคน เห็นด้วยหรือไม่ ห้ามมี “ม็อบ” 2 ปี