TDRI เตือนปี63 เฝ้าระวังคนจนเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจตกต่ำ-เลิกจ้างงาน เหตุโควิด-19

by ThaiQuote, 3 พฤศจิกายน 2563

TDRI เตือน คนจน อาจเพิ่มขึ้น เหตุเศรษฐกิจตกต่ำ-เลิกจ้างงาน จากผลกระทบโควิด-19 ด้าน สภาพัฒน์ ชี้ ปี 62 คนจนลดลงจาก 6.7 ล้านคน เหลือ 4.3 ล้านคน แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของคนจนในปี 2562 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง โดยในปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนทั้งหมด 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลได้เปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ ในระหว่างช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.61 ในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนในรอบก่อนหน้า

สำหรับผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่ วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200 - 300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะวงเงินรวมสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน

นอกจากนี้คนยากจนบางส่วนยังได้รับการเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

ทั้งนี้แม้ว่า สัดส่วนคนจนในปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนในปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง
ด้าน น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า สศช. รายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในปี 2562 พบว่า สัดส่วนคนยากจนลดลงจาก 9.85% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24% ในปี 2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า

หากพิจารณาแนวโน้มของความยากจนในระหว่างปี 2541-ถึงปัจจุบัน สัดส่วนและจำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 38.63% ในปี 2541 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือ 17.88% ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือ 6.24% ในปี 2562

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความยากจนในระยะ 5 ปี หลัง (ปี 2558 - 2562) พบว่า สัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วน ไม่เกิน 10% และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง คือ ปี 2559 และ 2561 โดยสัดส่วนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 เกิดจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ในปี 2561 เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ เงินบาทแข็งค่า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ส่งผลสืบเนื่องต่อผู้มีรายได้น้อย

 

ข่าวที่น่าสนใจ

คลัง ปลื้ม ยอด “คนละครึ่ง” สะพัด 4 พันล้าน เร่งเพิ่มเครื่องยืนยันตัวตน 1,000 เครื่องทั่วประเทศ