หากไบเดนชนะ “อเมริกา-จีน” จะเป็นอย่างไร? แต่ไทยควรเหยียบเรือสองแคม

by ThaiQuote, 5 พฤศจิกายน 2563

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำหรับผู้ท้าชิงเก้าอี้มหาอำนาจโลกอย่างนายโจ ไบเดน ที่ล่าสุดจากผลการนับคะแนนการเลือกตั้งในเวลา 09.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า ชายวัย 74 ปีผู้นี้ จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของสหรัฐฯ

 

การเฉือนเอาชนะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันที่หมายมั่นว่าจะทำงานต่ออีกสมัยใน 4 ปีข้างหน้า อาจจะเป็นหนังฉากใหม่ของมหาอำนาจโลกที่แย่งชิงความเป็นหนึ่ง โดยเฉพาะกับจีน และรัสเซีย รวมถึงปัญหาคาราคาซังทางความมั่นคงกับโลกตะวันออกกลาง และเกาหลีเหนือ รวมไปถึงการค้าที่เชื่อมโยงไปยังเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่นกัน

นายไบเดน ชูยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันกับนานาชาติ แต่แน่นอนว่าเขาก็จะยึดเอาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอาไว้ก่อน แต่จะไม่มีรูปแบบ "กำปั้นทุบดิน" โดยใช้มาตรการต่างๆ บีบรัดเอาผลประโยชน์จากชาติคู่ค้าของเขา ต่างจากนายทรัมป์ที่แน่นอนว่าเขาจะทำให้ "อมริกา ยิ่งใหญ่อีกครั้ง" โดยไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพาชาติอื่นๆ มากเท่าไหร่นัก

หากมองว่าโลกมองอย่างไรกับการเลือกตั้งของสหรัฐฯ แน่นอนว่าสายตาอาจจะต้องเบนมายังทวีปเอเชีย ที่มีพี่ใหญ่ครองอำนาจ และก้าวขึ้นไปท้าทายพญาอินทรีอย่างสหรัฐฯ นั่นคือจีน

สหรัฐฯ ในยุคของทรัมป์เป็นที่ทราบกันดีว่าเลือกเอาจีนเป็นคู่แข่งทางการค้า นายทรัมป์พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้จีนอ่อนแอมากที่สุดในแง่เศรษฐกิจ พร้อมกับปิดกั้นด้วยกำแพงภาษีกับจีน รวมถึงชาติอื่นที่เป็นพันธมิตรกับแผ่นดินใหญ่ด้วย

แต่สำหรับนายไบเดน เขาหาเสียงว่าจีนจะต้องรับผิดชอบเรื่องนโยบายการค้า และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ดูว่าไม่เป็นธรรมกับชาติอื่นๆ แต่เขาเลือกจะไม่เล่นงานด้วยกำแพงภาษี หากแต่จะหาพันธมิตรชาติอื่นๆ มาเป็นพวก เพื่อบีบให้จีนอยู่ไม่ได้ และต้องเข้ามาอยู่ในเกมของสหรัฐฯ

ประเด็นนี้โลกจึงมองว่า นายไบเดน ก็อาจจะดูดุเดือดไม่ต่างจากนายทรัมป์เท่าไหร่เช่นกัน

แต่กระนั้น โลกก็หวังว่าการเจรจาในทุกด้าน ทั้งด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ กับบทบาทจากผู้นำคนใหม่ ก็น่าจะราบลื่นมากกว่าการคุยกับนายทรัมป์ โดยเฉพาะด้านการค้าที่ทั้งโลกกำลังมอง เพราะสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง ประชากรจำนวนมากต้องการสินค้า การเจาะเข้าไปค้าขายกับสหรัฐฯ ภายใต้กติกาใหม่จากนายไบเดน ก็น่าจะเป็นทางออกให้กับอีกหลายๆ ชาติที่จะเร่งฟื้นเศรษฐกิจตัวเอง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลเสียอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจของทั้งโลก

เมื่อเชื่อมผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ที่คาดว่าจะเป็นนายไบเดน ลากเส้นมาบรรจบกับประเทศไทย ที่จะทำอย่างไรกันดีหากนายไบเดนขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน จีนก็เป็นชาติที่ใกล้ชิดในด้านการค้า การช่วยเหลือต่างๆ กับไทยเช่นกัน การวางตัวของพี่เบิ้มในอาเซียนอย่างไทยแลนด์ จะต้องวางตัวเองในตำแหน่งใดที่จะดีที่สุด

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องจำเอาไว้ คือชาติอื่นไม่ได้เลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากแต่เป็นอเมริกันชนที่เลือกกันเอง แน่นอนว่าคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดไม่ว่าชาติใดก็ต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนของพวกเขา หากแต่ชาติอื่นๆ จะเลือกเอานโยบายใดเพื่อไปปรับใช้และหารายได้ ผลประโยชน์กลับมาบ้าง

สำหรับไทยเอง อาจจะเจอวิกฤตได้หากนโยบายไม่เอื้อกับบ้านเรา แต่ทั้งนี้ ในทุกวิกฤตก็ย่อมมีโอกาส ไทยต้องชิงหาจังหวะที่เป็นช่องโหว่ในด้านสินค้าที่ถูกกีดกันจากการแข่งขันทางการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจของโลก และเข้าไปเติมเต็มช่องว่างของแต่ละชาติอย่างเป็นกลาง วางตัวไม่ทิ้งน้ำหนักไปหาใครให้มากนัก เพราะนาทีอาจจะไม่ใช่เรื่องของอำนาจที่เรากำลังมอง หากแต่เป็นเรื่องการฟื้นคืนเศรษฐกิจต่างหากที่สำคัญกว่า

แน่นอนว่าหากนายไบเดนถูกประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ไทยเองอาจจะได้เปรียบในสินค้าจำพวกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจสีเขียวที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมของโลกจะมีโอกาสเข้าไปเจาะตลาดเมริกาได้มากขึ้น เพราะถือเป็นโยบายหลักของนายไบเดน

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด หาก “โจ ไบเดน” ชนะเลือกตั้งสหรัฐฯ ส่งออกไทยแนวโน้มดีขึ้น