“สันติ” แจงเหตุผลไม่รับร่าง “ไอลอว์” ชี้ “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”

by ThaiQuote, 19 พฤศจิกายน 2563

“สันติ” ส.ส.พปชร. โพสต์ 4 เหตุผลไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ชี้เจ็บนิ้ว ก็ไม่ควรตัดทั้งมือ หวั่นแก้ไขรายมาตราทำ สสร.ถูกจำกัดความคิด พร้อมขอไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 พ.ย.63) นายสันติ กีระนันท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงถึงเหตุผลในการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยลงมติรับเฉพาะร่างฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 และลงมติไม่รับร่างฉบับที่ 7 หรือ ร่าง “ไอลอว์” โดยระบุว่า

“การลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

เมื่อวานนี้ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้มีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรับฉบับที่ 1 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน รับฉบับที่ 2 ของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่รับฉบับที่ 3 - 6 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และไม่รับฉบับที่ 7 ซึ่งเรียกกันติดปากว่า "ร่าง iLaw" นอกจากนั้น รัฐสภายังมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาขึ้น 45 คน และให้ใช้ร่างฉบับที่ 2 เป็นหลัก (เหตุผลคือ มีมติรับที่มากกว่าร่างฉบับที่ 1)

ผมลงมติ รับฉบับที่ 1 ฉบับที่ 2 งดออกเสียง ฉบับที่ 3 - 6 และไม่รับฉบับที่ 7 ซึ่งก็แตกต่างไปจากมติของที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ไปเล็กน้อย เป็นการใช้เอกสิทธิของการเป็นสมาชิกรัฐสภาโดยชอบธรรม ประกอบด้วยความเห็นของตนเองชัดเจน

เหตุผลของการรับฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 นั้น เพราะร่างทั้ง 2 ฉบับนั้น มีหลักการเหมือนกันคือ จะแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งถือเป็นประตูสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะให้มีการตั้ง สสร. (ซึ่งผมคิดว่า ในที่สุดแล้ว ชื่อเป็นทางการของ สสร. ต้องถูกคิดขึ้นใหม่ เพราะคงจะไม่ได้เป็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการให้มีคณะบุคคล ซึ่งจะเรียก "สภา" หรือเปล่า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ยังคงอยู่ แต่มีการแก้ไขหมวด 15 เป็นหลัก รวมทั้งอาจจะมีการร่างมาตราต่าง ๆ ในหมวดอื่น โดยไม่แตะต้อง หมวด 1 และ หมวด 2)

ความแตกต่างกันระหว่างฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 นั้น มีนิดเดียวเท่านั้น คือ องค์ประกอบของ สสร. ที่จะเข้ามาทำหน้าที่รับไม้ต่อไปในการไปทำงาน

อาจจะมีคำถามว่า ทำไมผมถึงงดออกเสียงสำหรับร่างฉบับที่ 3 - 6 เหตุผลก็คือ เมื่อผมเห็นด้วยกับการให้มี สสร. มาทำหน้าที่พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เกือบทั้งฉบับ (โดยให้เว้นหมวด 1 และหมวด 2) แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปชี้นำการทำงานของ สสร. เพราะร่างฉบับที่ 3 - 6 นั้น เป็นการแก้ไขรายมาตรา ที่แสดงถึงแนวคิดที่บางฝ่ายไม่อยากให้มีในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของ สว. หน้าที่และอำนาจของ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี การดำรงอยู่ของ สว. เป็นต้น ... รายละเอียดเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของ สสร. ที่จะต้องไปทำการพิจารณาให้เกิดความชัดเจน และได้ข้อสรุปออกมา หากรับร่างฉบับที่ 3 - 6 พร้อมกันไป ก็เท่ากับไปจำกัดกรอบความคิดของ สสร. ว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้

ส่วนการไม่รับร่างฉบับที่ 7 ที่กล่าวอ้างกันว่าเป็นร่างของประชาชน หรือที่เรียกกันติดปากว่า ร่าง iLawนั้น ผมก็มีเหตุผล คือ

เหตุผลที่ 1. ร่างฉบับที่ 7 นี้ ทั้งแก้ไขมาตรา 256 ให้มีการตั้ง สสร. แล้วในร่างเดียวกันนั้น ก็ยังแก้รายมาตรา โดยหลักการและเหตุผลสำคัญคือ ต้องการรื้อถอน "ผลไม้พิษ" จาก คสช. ซึ่งผมคิดว่าผู้ที่ใช้คำว่า "ผลไม้พิษ" นั้น อาจจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลไปสักหน่อย เพราะต้องยอมรับว่า สิ่งที่ คสช. ทำไปนั้น แม้จะมีหลายอย่างที่ไม่พึงประสงค์ (แม้แต่ตัวผมเองก็ไม่ชอบ) แต่ต้องยอมรับว่า บางอย่างที่ คสช. ทำลงไปนั้น เป็นการวางหลักการที่ดี (ย้ำนะครับว่า หลักการที่ดี แต่การปฏิบัติตามหรือการไม่ปฏิบัติตามหลักการนั้นต่างหาก ที่อาจจะนำไปสู่ผลที่ไม่ดี)

ดังนั้น การแสดงความประสงค์จะรื้อถอนทั้งหมดออกไปในสายตาของผม ก็อาจจะเปรียบเทียบได้ง่าย ๆ ว่า ถ้าเจ็บนิ้ว ก็จะตัดมือทิ้งทั้งมือ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ... การทำงานในระดับชาติอย่างนี้ ไม่สามารถใช้อารมณ์เหนือเหตุผลได้ครับ

เหตุผลที่ 2. การกำหนดให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง สสร. และแก้ไขรายมาตรา ในร่างฉบับเดียวกัน ย่อมทำให้ สสร. ถูกจำกัดความคิด ดังที่อธิบายไปแล้วว่า ทำไมผมจึงงดออกเสียงสำหรับร่างฉบับที่ 3 - 6

เหตุผลที่ 3. การกำหนดให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และไม่ยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ นั้น ส่อเจตนาชัดเจนว่า หลักการสำคัญของการเป็นประเทศไทยที่เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ รวมทั้ง หมวด 2 พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มีความเป็นไปได้ที่จะถูกวางหลักเสียใหม่ (ที่ดัดจริตเรียกกันว่า การปฏิรูปสถาบัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคือความต้องการล้มล้างสถาบันนั่นเอง) ... ในเรื่องนี้ ผู้มาชี้แจงจาก iLawพยายามกลบเกลื่อนว่า สมาชิกรัฐสภาจำนวนมาก คิดมากกันไปเอง ไม่ได้มีเจตนาอะไรเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่า ผู้ร่างไม่ได้มีแนวคิดอย่างที่พวกเราคิดมากกันไป และยิ่งไปกว่านั้น หากไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น ก็เขียนให้ชัดไปเลยครับว่า จะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 อย่างร่างฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2

อธิบายความคิดของผมมาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจจะบอกว่า ผมก็ดัดจริตเหมือนกันที่โหนกระแสความจงรักภักดี ... เปล่าครับ แต่ผมไม่เห็นความจำเป็นอะไรกับการที่จะไปแตะต้องหลักการการเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ของประเทศไทย และผมก็ไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่หลายคนผู้หวังอำนาจจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน พยายามยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความเกลียดชังพระมหากษัตริย์ และกระทำการดังกล่าวกันเป็นล่ำเป็นสันอย่างไม่มีความละอายและเกรงกลัวกันอยู่ในขณะนี้ ... บิดเบือนกันทั้งเรื่องงบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ บิดเบือนกันทั้งเรื่องราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

หลักการการเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ของประเทศไทย ก็ชัดเจนครับว่า ไม่มีการแบ่งเป็น "รัฐ" และประเทศจะกลายเป็น "สหรัฐ" ซึ่งความคิดเบื้องหลังของความพยายามเช่นนี้ ก็มีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง และเหตุผลพื้นฐานก็ไม่พ้นเรื่องการ กระหายอำนาจของผู้ไม่หวังดีอย่างแท้จริงกับประเทศไทยอีกนั่นเอง

ผมอธิบายเหตุผลที่ 3 ของผม ในการไม่รับร่างฉบับที่ 7 ยาวหน่อยครับ เพื่อให้เห็นว่า ผมไม่ได้กังวลอะไรไปเกินกว่าเหตุครับ แต่ผมต้องการป้องกันสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย และต้องไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพียงเพราะต้องการสนองตัณหาของการกระหายอำนาจของคนเลวเท่านั้นครับ

สำหรับผมนั้น "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" ครับ

เหตุผลที่ 4. การมาชี้แจงและตอบข้อซักถามของตัวแทนจาก iLawถือได้ว่าเป็นการล้มเหลวของการชี้แจงและตอบข้อซักถามโดยสิ้นเชิงครับ เพราะเริ่มต้นของการแถลง ก็บอกว่า การเข้าใจว่าร่างนี้เป็นของ iLawเป็นความเข้าใจผิด เพราะร่างนี้เป็นของประชาชน ไม่ใช่ร่างของ iLaw ... แต่พอแถลงไปอีกสักไม่นานก็บอกว่า กระบวนการที่ iLawทำคือ iLawได้ยกร่างนี้ขึ้น และตั้งโต๊ะให้ประชาชนมาร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ... คำแถลงอย่างนี้ขัดกันหรือไม่ครับ

ผมมีอาชีพในการให้ความรู้กับคนที่ต้องการความรู้ในสาขาการเงิน สิ่งที่ผมระมัดระวังอย่างยิ่งคือ การนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ต้องเป็นความจริง และมีเหตุผลที่ชัดเจน ซึ่งเหตุผลที่ชัดเจนและเป็นความจริงจะไม่ขัดแย้งกันเอง หากขัดแย้งกันเอง ก็แสดงว่า เหตุผลผิดหรือเป็นความเท็จ หรือเป็นทั้งสองอย่าง ดังนั้น การแถลงกลับไปกลับมานั้น ก็มีข้อสรุปในใจของผม

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้มาชี้แจงไม่ได้ตอบข้อซักถามหรือข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาเลยครับ แต่เฉไฉไปมา และอ้างเอาเสียงของประชาชนกว่าแสนรายชื่อเป็นเกราะกำบังเท่านั้น ยิ่งมีการชี้ถึงความไม่สามารถกระทำได้ในกระบวนการนิติวิธี ยิ่งเฉไฉไปมา ... หากผมยอมรับร่างนี้ได้ ก็เท่ากับยอมให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายได้เช่นเดียวกัน

ผมไม่ได้ไม่เห็นคุณค่าของแสนรายชื่อที่ลงชื่อมา แต่ผมเชื่อว่ากว่าแสนรายชื่อนั้น ก็มีจำนวนไม่มากนักหรอกครับที่ได้อ่านและได้วิเคราะห์สิ่งที่ซ่อนไว้อย่างน่าเคลือบแคลงในร่างฉบับนี้ ... เพียงได้รับการบอกเล่าว่า เป็นร่างที่จะทำให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็ยอมรับได้แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ เพราะก็ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ใช้มาสักระยะหนึ่งนั้น มีเรื่องที่ต้องแก้ไขจริง ๆ ครับ

ผมเขียนเรื่องนี้หลังจากที่ได้ลงมติไปแล้ว เพื่ออธิบายให้เห็นถึงความคิดของตัวเอง จะถูกหรือจะผิด ก็เป็นความคิดของผมที่วิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้มีสิ่งใดแอบแฝง และได้แหกมติของวิปรัฐบาลที่ให้งดออกเสียงสำหรับร่างฉบับที่ 7 แต่ผมได้ลงมติไม่รับหลักการไปเลยครับ

เหตุผลเหล่านี้เป็นเหตุผลจากการวิเคราะห์ที่ทำให้ตัดสินใจแหกมติของวิปรัฐบาล (ทั้งที่ผมเป็นกรรมการคนหนึ่งในวิปรัฐบาลด้วย)

#เพ้อเจ้อรำพึง”

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ตร.เตรียมเอาผิด ม็อบ “ราษฎร” สาดสีป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ