สปสช.ชวนคลินิกเอกชน กทม. ร่วมระบบบัตรทองแบบใหม่ "หน่วยร่วมบริการ"

by ThaiQuote, 27 พฤศจิกายน 2563

มิติใหม่! สปสช.เชิญชวนคลินิกเอกชนใน กทม. เข้าร่วมให้บริการบัตรทอง ย้ำเพิ่มรูปแบบ "หน่วยร่วมบริการ" ไม่ยุ่งยาก แค่รักษาไปตามปกติแล้วเรียกเก็บเงินจาก สปสช.แทน

 

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการรับสมัครขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยระบุว่า ในพื้นที่ กทม.มีผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ประมาณ 3.7 ล้านคนและยังมีคนที่มีทะเบียนบ้านในจังหวัดอื่นแต่อยู่ใน กทม.อีก 5 ล้านคน คนกลุ่มนี้แม้มีสิทธิบัตรทองแต่แทบไม่มาใช้บริการ ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้รับความสะดวก ต้องรอคิวนาน อีกส่วนหนึ่งคือจำนวนหน่วยบริการที่มีอาจจะไม่เพียงพอกับการให้บริการแก่ผู้ใช้สิทธิ

 

 

ด้วยเหตุนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายให้ไปรับบริการที่ไหนก็ได้ และ สปสช.ได้ปรับระบบให้บริการเป็นแบบเครือข่าย มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นแม่ข่าย และได้ขยายรูปแบบคลินิกที่ไม่ได้ผูกกับจำนวนประชากรหรือที่เรียกว่าหน่วยร่วมบริการ เพื่อเพิ่มจำนวนหน่วยบริการในระบบ

ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนหน่วยบริการคลินิกเอกชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช. โดยรูปแบบการให้บริการของหน่วยร่วมบริการนั้น ทางคลินิกไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงสมัครเข้ามา แล้วเมื่อมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองมารับบริการก็เบิกเงินมาที่ สปสช. แทนที่จะเก็บจากผู้ป่วย

ในขณะเดียวกัน คลินิกที่รับดูแลประชากรหรือที่เรียกว่าหน่วยบริการปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม โดยมีค่าเหมาจ่ายรายหัวให้แต่จะให้ดูแลในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ขณะที่เรื่องการรักษาก็จะจ่ายตามรายการบริการเช่นกัน

 

 

ด้าน นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รูปแบบหน่วยบริการในระบบของ สปสช.มี 4 แบบคือ

1.หน่วยบริการประจำ หมายถึงหน่วยบริการที่ประชาชนลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ

2.หน่วยบริการปฐมภูมิ ดูแลเรื่อง Primary care ซึ่งในสถานพยาบาลเป็นได้ทั้งหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการประจำในเวลาเดียวกัน

3.หน่วยร่วมบริการ เช่น คลินิกทันตกรรม คลินิกเฉพาะทางต่างๆ

4.หน่วยบริการรับส่งต่อสำหรับรับส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่เกินศักยภาพของหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ

นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า ระบบการจ่ายรูปแบบเดิมนั้น หน่วยบริการต้องตามจ่ายแก่หน่วยบริการรับส่งต่อในกรณีที่มีการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาตัว อย่างไรก็ดี ในระบบบริการที่ สปสช.ปรับปรุงใหม่นั้น จะจัดระบบบริการใหม่เป็นเครือข่ายให้ประชาชนไปรับบริการที่ไหนก็ได้ในเครือข่าย แล้วหน่วยบริการส่งข้อมูลมาเบิกจ่ายจาก สปสช.และสามารถส่งต่อไปหน่วยบริการรับส่งต่อได้โดยไม่ต้องผ่านแม่ข่าย

อีกทั้งไม่ต้องตามจ่ายแก่หน่วยบริการรับส่งต่อเพราะ สปสช.จะตามจ่ายให้แทน หรือถ้าในเครือข่ายมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถแนะนำให้ไปคลินิกเฉพาะทางได้โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล

"คลินิกเอกชนที่สนใจสมัครเลือกได้ว่าจะสมัครแบบไหน และหากสมัครเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จแล้ว สปสช.จะจัดสรรจำนวนประชากรให้ทันที หรือหากสมัครเป็นหน่วยร่วมบริการ สปสช.ก็จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบว่ามีหน่วยร่วมบริการอยู่ในพื้นที่ ขณะที่หน่วยบริการรับส่งต่อ ทาง สปสช.ก็จัดเตรียมพร้อมไว้ในแต่ละเขตแล้ว" นพ.วีระพันธ์ กล่าว

ด้าน น.ส.กิติพร โพธิทากูล ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานทะเบียน สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของภาพรวมการขึ้นทะเบียนนั้น หน่วยบริการต้องมีเลขรหัส 5 หลักที่ออกโดยกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในขั้นตอนการยื่นขอเลข 5 หลักก็มอบให้เจ้าหน้าที่ สปสช.ดำเนินการให้ควบคู่ไปกับการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการกับ สปสช.ได้

ทั้งนี้ ในขั้นตอนการสมัครจะมีแบบฟอร์มขอสมัครขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ซึ่งต้องใช้ใบอนุญาตเปิดดำเนินการ และใบอนุญาตให้บริการ สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และหากเป็นหน่วยร่วมบริการก็จะมีแบบประเมินตนเองเพิ่ม จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจประเมิน เมื่อตรวจประเมินเสร็จ สปสช.ก็จะประกาศให้เป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองและเข้าสู่ขั้นตอนการทำสัญญาก่อนจะทำรายการเบิกจ่ายค่าบริการได้

พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษา สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการตรวจสอบการเบิกจ่าย (Audit) ไม่ใช่ประเด็นใหญ่หากหน่วยบริการดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งในส่วนของการตรวจสอบนั้น สปสช.จะตรวจหลังจากมีการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว แต่บางส่วนจะมีการตรวจก่อนจ่ายด้วย

ส่วนจะตรวจรายการบริการไหนบ้างนั้น จะเป็นการเลือกสุ่มตรวจ เมื่อตรวจแล้วพบข้อผิดพลาดก็จะมีการเรียกเงินคืน หรือหากหน่วยบริการไม่ได้เรียกเก็บเข้ามาก็จะจ่ายเงินให้ แต่หากความผิดปกติในการเรียกเก็บเงินเป็นจำนวนมากก็จะเลือกตรวจในรายการนั้นๆ

พญ.กฤติยา กล่าวด้วยว่า การ Audit นอกจากจะตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องขอมูลที่เรียกเก็บเงินเข้ามาแล้ว ข้อมูลที่เกิดขึ้นจะนำมาพัฒนาระบบการเบิกจ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งนำข้อมูลไปประกอบแนวทางการพิจารณานโยบายด้านสุขภาพต่างๆ ด้วย

รายละเอียดการรับสมัครเพิ่มเติมดูได้ที่ https://bkk.nhso.go.th/main/shownews.php?newsid=4673

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

เคาะ 1 ม.ค.64 ผู้ป่วยบัตรทอง ย้ายสิทธิรักษา รพ. ทุกแห่งได้ทันที