พรรคร่วมเสียงแตก ปมญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความร่างแก้ไข รธน.

by ThaiQuote, 30 พฤศจิกายน 2563

พรรคร่วมเสียงแตก พลังประชารัฐ ให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ลงมติ ตีความญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้านประชาธิปัตย์ ลงมติพรรค ไม่เห็นด้วย ชี้ร่างดังกล่าวผ่านความเห็นชอบพรรคร่วมแล้ว

 

น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยภายหลังการประชุม ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ (30 พ.ย.63) ว่า การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ของการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 1 ธ.ค.63 และการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 2-3 ธ.ค.63 นี้

สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภา มีวาระร่างพ.ร.บ.ประชามติ และญัตติด่วน เรื่องขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210(2) ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสมชาย แสวงการ เป็นผู้เสนอไว้

โดย ที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ ได้หารือแนวทางลงความเห็น ตามที่นายไพบูลย์ได้เสนอ โดยจะเปิดโอกาสให้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. แต่ละคนที่จะตัดสินใจ และไม่ได้วางกรอบการลงมติว่าจะต้องเป็นไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ เพราะเชื่อว่าสมาชิกแต่ละคนมีความคิดเห็นที่หลากหลาย

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่จะมีการลงมติให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขมาตรา 256 ว่า พรรคมีมติไม่เห็นชอบด้วยกับการให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล กับฝ่ายค้านชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่โดยเฉพาะร่างรัฐบาล โดยมีเหตุผลคือ

1.ร่างนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลถึงขั้นได้เสนอเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความชัดเจน และได้มีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าก่อนที่จะลงนามเสนอแต่ละพรรคการเมืองนั้นได้ตรวจสอบโดยรอบคอบแล้วไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกว่าเป็นร่างที่ถูกต้องหรือไม่

2. สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นร่างที่ชอบโดยรัฐธรรมนูญ

3. ถ้ามีความประสงค์ที่จะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจริงๆ ยังสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ภายหลังจากผ่านวาระ 3 และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯนั้น สามารถตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ ไม่จำเป็นต้องมาตรวจสอบตอนนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่พรรคมีมติว่าไม่เห็นชอบด้วยและที่สำคัญอาจจะกลายเป็นเงื่อนไขประเด็นทางการเมืองโดยไม่จำเป็นว่าไม่จริงใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นายกฯ เตือน “ราษฎร” บุกกดดัน ศาลรธน. ปมคดีบ้านพัก ระวังผิดกฎหมาย