ไร้ปัญหา! สธ.ยัน มีระบบบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 อย่างดี

by ThaiQuote, 3 ธันวาคม 2563

ก.สาธารณสุข แจงมีระบบบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 อย่างดี กลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีนตามที่กำหนด ไม่มีการนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่น มั่นใจมีประสบการณ์กว่า 30 ปี WHO ยกเป็นประเทศต้นแบบ

 

วันที่ 3 ธ.ค.63 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวประเด็นข้อสงสัยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการจองและซื้อวัคซีนโควิด-19 กับบริษัท แอสตราเซนเนกา จำกัด ทำให้คนไทยจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ประมาณกลางปี 2564

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมระบบบริหารจัดการรองรับ เพื่อให้คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งประเทศไทยมีประสบการณ์ดำเนินงานแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมามากกว่า 30 ปี จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นประเทศต้นแบบในการศึกษาดูงานด้านวัคซีน

โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการกำหนดทิศทางบริหารจัดการ มีระบบอำนวยการ ประเมินผล และระบบการติดตามดูแลอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังจากการรับวัคซีน การขนส่งมีระบบรักษาความเย็น (Cold Chain) ที่ทำได้ดีมาก ที่ผ่านมาไม่เคยพบการฉีดวัคซีนปลอม หรือนำน้ำเกลือมาฉีดแทนแต่อย่างใด

ขณะที่การลงไปฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องทำงานอย่างหนักในการเตรียมความพร้อมให้ความรู้บุคลากร ทำความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้

“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเราทำอย่างดีที่สุด ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีการให้วัคซีนขนาดใหญ่ทั่วประเทศมาแล้ว เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบจำนวน 22 ล้านเข็ม ทำให้สามารถกำจัดโรคคอตีบจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ หรือโรคโปลิโอที่เคยเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างมากถูกกวาดล้างไป วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกช่วยลดอัตราเสียชีวิตปีละ 7 พันราย

หรือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องปีละ 4 ล้านโดสต่อปี ช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ภูมิคุ้มกันต่ำ แต่การป้องกันได้ ไม่ได้เกิดจากวัคซีนเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยมาตรการป้องกันส่วนบุคคลด้วย ได้แก่ Social Distancing การเว้นระยะห่าง Mask Wearing การสวมหน้ากาก Hand Washing การล้างมือ และRapid Testing การตรวจรักษาที่รวดเร็ว” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เป็นหน่วยงานหลักในการหาข้อมูลและความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้แก่คนไทยไม่ช้ากว่าประเทศอื่น ตั้งเป้าให้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากร ซึ่งการลงนามร่วมกับแอสตราเซนเนกา จะได้วัคซีนครอบคลุมประมาณร้อยละ 20 ของประชากร คือ 13 ล้านคน จำนวน 26 ล้านโดส

ซึ่งเป็นการจองซื้อบนเงื่อนไขการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาด้วย ส่วนการเจรจากับ COVAX Facility ขณะนี้ยังไม่มีการทำสัญญา อยู่ระหว่างการเจรจา ตั้งเป้าให้ได้วัคซีนครอบคลุมอีกร้อยละ 20 ของประชากร สำหรับร้อยละ 10 ของประชากรที่เหลือ จะพยายามประสานบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังคงสนับสนุนผู้พัฒนาวัคซีนภายในประเทศไทยด้วย

นายแพทย์ศุภกิจกล่าวอีกว่า วัคซีนโควิด-19 ที่จะร่วมผลิตกับแอสตราเซนเนกา มีแผนดำเนินงานร่วมกันชัดเจนเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีน ไม่มีการนำวัคซีนไปใช้ในเหตุผลอื่นที่ไมได้กำหนดแน่นอน และมีการควบคุมไม่ให้วัคซีนเกิดปัญหา เช่น การนำน้ำหรือน้ำเกลือมาสับเปลี่ยน แล้วนำวัคซีนจริงไปขาย ซึ่งก็คงไม่สามารถนำไปขายได้ เนื่องจากประชาชนทราบว่าวัคซีนนี้ดำเนินการและใช้งบประมาณภาครัฐ โดยฉีดให้แก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยไม่คิดมูลค่า

อย่างไรก็ตาม อาจมีภาคเอกชนที่จัดหาวัคซีนเข้ามาดำเนินการขายเอง ส่วนนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ภาครัฐจะควบคุมคุณภาพมาตรฐาน โดยภาคเอกชนต้องนำวัคซีนมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ

ส่วนนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมการรณรงค์ให้วัคซีนโควิด-19 มี 6 ด้าน ได้แก่

1.การเตรียมวัคซีนโควิด 19 เช่น การทำสัญญาซื้อขาย จัดทำของบประมาณ จัดซื้อวัคซีน พัฒนาระบบการเบิกจ่ายและบริหารวัคซีน การเตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีน และตรวจสอบคุณภาพ Lot Release

2.การเตรียมสถานพยาบาล ทั้งอุปกรณ์สำหรับการฉีด ระบบลูกโซ่ความเย็น ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และสำรวจกลุ่มเป้าหมายและลงทะเบียนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการพิจารณากลุ่มเป้าหมายหลัก จะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วเสี่ยงเสียชีวิตสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือกลุ่มที่มีโอกาสแพร่กระจายสูง โดยมีคณะกรรมการพิจารณา ไม่ขึ้นกับคนใดคนหนึ่งมาสั่งการได้

3.สื่อสารประชาชนให้เข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายใดที่ควรรับวัคซีน ให้ความรู้ประชาชนเรื่องวัคซีนก่อนรับบริการ ประกาศรณรงค์

4.การรณรงค์ฉีดวัคซีน โดยจัดส่งไปยังหน่วยบริการทุกแห่ง ซึ่งมีองค์การเภสัชกรรมดำเนินการจัดส่งวัคซีนตามปกติอยู่แล้ว นัดหมายประชาชนกลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีน โดยอาจฉีดในสถานพยาบาลหรือเข้าไปฉีดในชุมชน พร้อมรายงานและติดตามผลการให้บริการ

5.การติดตามผลการให้วัคซีน โดยมีการติดตามผลเป็นรายสถานพยาบาลและรายสัปดาห์ กำหนดเป้าหมายการให้บริการมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หารือแนวทางให้วัคซีนเพิ่มเติมในพื้นที่เข้าถึงยาก

6.ติดตามอาการหลังได้รับวัคซีน ซึ่งจะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมาทบทวน

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

เตรียมผลิตวัคซีน-โควิด-19 ในไทยกลางปีหน้า