หมอธีระ ชี้ เคสแพปลาสมุทรสาคร แค่ยอดน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ!

by ThaiQuote, 18 ธันวาคม 2563

นพ.ธีระกังวล! หลังพบติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเคสแพปลาสมุทรสาคร ชี้ สถานการณ์ไม่โอเค เปรียบเหมือนยอดน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ จี้รัฐ แจ้งให้ประชาชนทราบสถานการณ์มีความเสี่ยงสูงระบาดซ้ำ

วันที่ 18 ธ.ค.63 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์โควิด-19 หลังจากพบเคสติดเชื้อในประเทศที่แพปลาจังหวัดสมุทรสาคร

โดยโพสต์ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้


“เคสสมุทรสาคร เป็นผู้สูงอายุ โชคดีที่ดูจะมีอาการไม่รุนแรง ให้กำลังใจหายไวๆ ครับ

หากเราสังเกตทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่ตุลาคม เราจะพบว่าแทบทุกรายนั้นผู้ติดเชื้อมาหาเพื่อตรวจเอง จะโดยมีอาการหรือไม่มีอาการก็แล้วแต่

มาหาเพื่อตรวจเอง มีทั้งที่ตรวจก่อนเข้าเรือนจำ ตรวจก่อนแข่งบอล ตรวจจะไปทำงานต่างประเทศ รวมถึงตรวจเพราะมีอาการไม่สบาย เช่น กลุ่มลักลอบเข้าเมือง และเคสในประเทศล่าสุดเย็นวันนี้

มองในแง่ดี...คือ...ไทยเรานั้นโชคดี

แต่หากมองอีกที...มันบ่งชี้ว่า นี่คือยอดน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำเท่านั้นเอง
ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่อาจอยู่ใต้น้ำ เพราะไม่ได้มุดลงไปดู

ดังที่เคยเตือนมาตลอด 8 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หลังเปิดประเทศรับคนจากต่างประเทศเข้ามา จะเกิดปรากฏการณ์ติดเชื้อในประเทศ และดาวกระจาย โดยมักเกิดราว 6-8 สัปดาห์ และจากนั้นมีโอกาสระบาดซ้ำได้หากไม่ป้องกันอย่างเข้มงวด และเลิกมาตรการนำความเสี่ยงเข้าสู่ประเทศโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ เรื่องที่บอกมาตลอดคือ นอกจากรณรงค์ป้องกันตัว ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ แล้ว จำเป็นต้องทำเรื่องต่อไปนี้ด้วย

หนึ่ง "แจ้งให้ประชาชนทราบว่าสถานการณ์ในประเทศนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดซ้ำได้" เรื่องนี้สำคัญ เพราะหากสื่อสารไปในทางตรงข้าม จะทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อรับเชื้อได้ และพอเกิดเรื่อง มักหาต้นตอลำบาก คุมยาก ตามไม่ทัน

สอง "รณรงค์ให้ประชาชนหมั่นคอยสังเกตอาการตนเอง และครอบครัว หากมีอาการไม่สบาย ต้องหยุดเรียน หยุดงาน และรีบไปตรวจรักษา" เรื่องนี้สำคัญ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมีแนวโน้มสูงมากที่จะมีเชื้ออยู่ในประเทศ เราไม่ทราบเลยว่าคนที่เราเจอในชีวิตประจำวันนั้น ใครติดเชื้ออยู่บ้าง เพราะมักไม่รู้ตัว จะโดยไม่มีอาการ หรือมีอาการแล้วเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแค่ไข้หวัด หรือหวัดใหญ่ หรือเจ็บป่วยเล็กน้อย

สาม "ต้องขยายระบบบริการตรวจโควิดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เข้าถึงได้ง่าย และไม่ติดล็อคแค่เรื่องอาการ" เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะระบบที่มีอยู่ ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง การไปตรวจนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก และกำลังการตรวจมีจำกัด หากไม่เตรียมพร้อมพัฒนาเรื่องนี้ให้เข้มแข็ง ระบาดซ้ำมักมาไม่ทันตั้งตัว ดังที่เห็นจาก 75 ประเทศทั่วโลก จะรับมือไม่ได้

สุดท้าย...ขอเรียนย้ำพวกเราทุกคนอีกครั้งว่า สถานการณ์ไม่โอเคนะครับ...

การเดินทางไปในที่ต่างๆ ขอให้ใคร่ครวญให้ดี เดินทางเท่าที่จำเป็นจริงๆ ไปอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดมากๆ

ต้องรู้จักประเมินสถานการณ์แวดล้อม หากแออัด คนเยอะ ไม่ใส่หน้ากาก หรือมีกิจกรรมที่เสี่ยงสูง เช่น ตะโกน ตะเบ็ง ดื่มกินกันอย่างยาวนาน ขอให้เลี่ยง ลด ละ เลิก เพราะไม่ปลอดภัยครับ

ใครจะว่าเว่อร์ ก็ช่างเขา...ขอให้เราไม่ติดก็พอครับ ติดแล้วตายได้ แพร่สู่คนใกล้ชิดได้

และหากกลับจากเดินทางแล้ว คอยสังเกตอาการ หากไม่สบาย ต้องรีบไปตรวจ ไม่ว่าจะเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสียก็ตาม

นี่ไม่ใช่เวลากระตุ้นเศรษฐกิจจนเว่อร์วัง แต่เป็นเวลาทำมาหากิน โดยเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก
ทำมาหากินแบบประคับประคองตัว ให้รอดจากระบาดซ้ำครับ

คาดว่ามีนาคมปีหน้า หากสถานการณ์ทั่วโลกเบาลง ค่อยเปลี่ยนเกียร์แล้วเหยียบคันเร่ง แต่ไม่ใช่ตอนนี้ ไม่งั้นจะสะดุดหัวคะมำ สาหัส ลุกไม่ขึ้น
ด้วยรักต่อทุกคน”

17 ธันวาคม 2563 โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคสสมุทรสาคร เป็นผู้สูงอายุ...

โพสต์โดย Thira Woratanarat เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2020

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

“หมอธีระ” แนะเลื่อนเปิดรับนัก ทท.ต่างชาติ มี.ค.64 หวั่นโควิด-19 ระบาดซ้ำเร็วเกินคาด