ลืม “น้ำประปาเค็ม” ไปก่อน เพราะวิกฤติ “ภัยแล้ง” กำลังมาเยือน

by ThaiQuote, 8 กุมภาพันธ์ 2564

สัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหา “น้ำประปาเค็ม” ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เคราะห์ซ้ำกันซัดที่ดันผุดขึ้นมาพร้อมกับปัญหาการเกิดฝุ่น PM2.5 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กทม. จนหลายคนเริ่มถามหาถึงคุณภาพชีวิตของคนเมืองกรุงกันอยู่เนืองๆ

“น้ำประปาเค็ม” เกิดขึ้นได้ในหลายช่วงของแต่ละปี เนื่องจากสาเหตุหลักมาจากการที่น้ำทะเลหนุนสูง ลามเข้ามายังบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาในส่วนที่เป็นนำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปา

การแก้ไขที่ปลายเหตุด้วยการแนะนำวิธีการกรองน้ำเพื่อใช้อุปโภค-บริโภค ผ่านกระบวนการ “Reverse Osmosis (R.O.)” โดยใช้เครื่องกรองน้ำ ที่มีราคาอยู่ประมาณ 1,000-6,000 บาท อาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว

แท้จริงแล้วปัญหา “น้ำประปาเค็ม” มีการพูดถึงในระดับนโยบายกันมานาน โดยเรื่องนี้ “ดร.รอยล จิตรดอน” ประธานกรรมการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้ให้ข้อมูลกับเรา ว่า น้ำประปาเค็มแก้ได้ด้วยการปล่อยน้ำจากเขื่อนไล่ความเค็มของน้ำทะเลที่หนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาออกไป


“ปกติเราจะใช้วิธีการคือ 1.ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท (น้ำจากเขื่อนภูมิพล จ.ตาก) ในปริมาณ 100 ลบ.ม./วินาที เพื่อผลักดันน้ำเค็มออกไป 2.ใช้น้ำจากเขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำป่าสัก) แต่ปรากฏว่าการใช้น้ำจากทั้ง 2 พื้นที่นั้น ปัจจุบันน้ำในอ่างมีปริมาณที่น้อย ซึ่งหากมีการระบายออกไป อาจเกิดผลกระทบต่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง” ดร.รอยล ชี้แจงหลักการของแผนการแก้ไขปัญหาน้ำประปาเค็มในระยะสั้น

รวมทั้งวิธีการของการประปานครหลวง (กปน.) โดยบริหารจัดการการสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ด้วยการหลีกเลี่ยงการสูบน้ำที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปา

นอกจากนี้ยังมีแผนการใช้น้ำดิบทดแทน จากคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งมีแหล่งน้ำมาจากเขื่อนหลักในลุ่มน้ำแม่กลอง คือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ สอดคล้องกับโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ของ กปน. โดยขยายกำลังการผลิตน้ำของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ด้วยการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ เชื่อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเพิ่มอีก 1 เส้นทาง

ขณะที่แผนในระยะยาว “ดร.รอยล” ได้เสนอให้เร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ แผนที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ ซึ่งมีโครงการสำคัญคือ การพัฒนาคลองเปรมประชากร


“รัฐบาลเคยสั่งการมาตั้งแต่ปี 2558 ให้เตรียมการใช้คลองเปรมฯ ซึ่งอยู่เหนือคลองสำแล ไปอีก 50 กม. โดยพบว่ายังติดขัดปัญหาเรื่องระบบการต่อเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า สำหรับเรื่องคุณภาพน้ำในคลองเปรมฯตอนเหนือจากคลองรังสิตนั้น มีศักยภาพพอที่จะปรับปรุงน้ำเพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาได้”

ที่สุดแล้ว “น้ำประปาเค็ม” มาจากผลพวงของการเกิดปรากฏการณ์ “ลานีญา” ที่จะมีผลกระทบไปจนถึงเดือน เม.ย.64 ซึ่งทำให้เกิดคลื่นสูงในทะเลอ่าวไทยเป็นจำนวนมาก โดยคลื่นที่รุนแรง ได้ซัดเอาน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา


จึงเกิดคำถามของหลายฝ่ายว่า ทำไมเราจึงไม่ใช้การบริหารจัดการน้ำตามรูปแบบการกั้นคลื่นของประเทศเนเธอรแลนด์ ซึ่ง ดร.รอยล ให้คำตอบกับเราในเรื่องนี้ว่า

“เนเธอร์แลนด์โมเดล มีการแบ่งประเทศออกเป็นกว่า 10 บล็อก คอยสูบน้ำออกทีละบล็อก โดยต้นทุนค่าเสียโอกาสอยู่ที่ประมาณกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งจำเป็นต้องดูว่ามีความคุ้มทุนกับประเทศไทยหรือไม่

ผมจึงเสนอว่า การแก้ไขปัญหา คือลดการขุดลอกร่องน้ำลึก เพื่อเพิ่มสันดอนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสันดอนเหล่านี้จะช่วยป้องกันน้ำเค็มได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องยกเลิกการใช้ท่าเรือคลองเตย แล้วใช้ท่าเรือแหลมฉบังทดแทน ที่กำลังพัฒนาเพื่อเป็นท่าเรือน้ำลึกตามแผนของ EEC อยู่แล้ว”

กล่าวถึงตรงนี้ หากลองมองภาพให้กว้างปัญหาเรื่อง “น้ำประปาเค็ม” อาจเป็นเรื่องรองลงไป เมื่อปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่น่าขบคิด


ปัจจุบันสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่ามีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 18,175 ล้านลบ.ม.(วันที่ 8 ก.พ.64)

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่เพื่อเป็นน้ำใช้ในฤดูแล้ง และสำรองใช้ก่อนถึงฤดูฝนปี 2564 อยู่ที่ 12,000 ล้านลบ.ม. เท่ากับว่าเรามีน้ำสะสมเพิ่มเติมอยู่อีกประมาณ 6,175 ล้านลบ.ม.

อย่างไรก็ตามในปีนี้ เรายังพบตัวแปรนอกเหนือจากการใช้น้ำโดยปกติ โดยแม้ว่าจะมีการประกาศขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการทำนาปรัง และปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน แต่ก็ยังพบมีการลักลอบทำนาปรังมากถึง 2.8 ล้านไร่

โดยเฉลี่ย การปลูกข้าวนาปรังมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 1,000-1,500 ลบ.ม./ไร่ เท่ากับว่า มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 2,800-4,200 ล้านล.บ.ม. ทำให้ปริมาณน้ำสะสมอาจลดลงไปอีกจากข้างต้น และอาจเป็นสาเหตุให้สถานการณ์น้ำในเขื่อนเข้าขั้นวิกฤติ หากฤดูฝนไม่มาตามนัด

“ปัญหาเรื่องของน้ำในเขื่อน เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี เพราะเรามัวแต่บริหารระบบส่งน้ำ แต่ไม่เคยบริหารพื้นที่รับน้ำ ผมยกตัวอย่าง เช่น ที่ลำตะคอง เมื่อมีการรื้อฝายผิดกฎหมายกว่า 400 แห่งในพื้นที่เขาใหญ่ ทำให้ปีนี้น้ำไหลลงลำตะคองมากขึ้นกว่าทุกปี มากจนถึงทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ ขณะที่หน้าแล้ง น้ำไม่ลงเขื่อน แต่เกิดน้ำท่วมที่เชียงใหม่ นี่คือผลจากการที่เราไม่บริหารพื้นที่รับน้ำอย่างเป็นระบบ


วันนี้สิ่งที่เรากำลังคือให้ทุกจังหวัดเสนอแผนปลูกป่า ซึ่งป่าเหนือเขื่อนต่างๆจะดีขึ้น เขื่อนต่างๆก็จะดีตามมาเหมือนลำตะคอง พุดง่าย ฝนจะตกในที่ที่ป่ามี เมื่อป่าไม่มีฝนก็ไม่ตก พอผมพูดอย่างนี้ คนอาจจะสงสัยว่าทำไม กทม.ฝนชอบตก ก็เพราะเราสร้างความร้อน ซึ่งระยะยาวไม่ดีแน่นอน” ดร.รอยล กล่าวสรุปให้เราฟัง


บทความที่น่าสนใจ

“เราชนะ” ไม่จ่ายเงินสด ป้องกันคนใช้ “ฟุ่มเฟือย”