เผยดัชนีความเชื่อมั่น ต่ำสุดรอบ 22 ปี ความสุขคนไทยดิ่งเหว เหตุโควิด ทำชีวิตไม่แน่นอน

by ThaiQuote, 6 สิงหาคม 2564

ศูนย์พยากรณ์ฯ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.64 พบปรับลดลงทุกรายการ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 10 เดือน ขณะที่ดัชนีความสุขในปัจจุบัน-อนาคต ดิ่งต่ำสุดในรอบ 16 ปี 3 เดือน เหตุจากการระบาดของโควิด-19 ทำเศรษฐกิจแย่ เสี่ยงตกงาน ขาดรายได้ สวนทางค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงจากระดับ 43.1 เป็น 40.9 อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 274 เดือนหรือ 22 ปี 10 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือน ต.ค.41 เป็นต้นมา

เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในรอบที่ 4 และการที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 13 จังหวัด โดยออกมาตรการมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 35.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 38.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 49.6 ตามลำดับ

ทั้งนี้ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด

และจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 28.1 มาอยู่ที่ 26.6 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 269 เดือนหรือ 22 ปี 5 เดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค.42 เป็นต้นมา

และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 50.1 มาอยู่ที่ระดับ 47.6 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 274 เดือนหรือ 22 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือน ต.ค.41 เป็นต้นมา และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ขณะที่ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 20.1 ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 195 เดือน หรือ 16 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือน พ.ค.49 โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในการดำรงชีวิตน้อยมากถึง 81.8%

ด้านความคาดหวังในความสุขจากการดำรงชีวิตในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในอนาคต ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 28.5 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 195 เดือนหรือ 16 ปี 3เดือน เช่นเดียวกัน โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าในอนาคตเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขในการดำรงชีวิตน้อยมากอยู่ที่ 73.6%

โดยผลการสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้บริโภคมีความสุขต่ำกว่าระดับปกติ อาจเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในอนาคตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะการว่างงานและการหารายได้ในอนาคตประกอบกับค่าครองชีพทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือนส.ค. เป็นต้นไป และการแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 4 ว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้รวดเร็วเพียงไร รัฐบาลจะมีการประกาศ “ล็อกดาวน์” เพิ่มเติมหรือไม่และอย่างไร

ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 0 ถึง -2% ได้

 

 

 

เรื่องที่น่าสนใจ

ศบค. เผยตัวเลข ผู้ป่วยโควิด กทม. “รักษาตัวที่บ้าน” แล้ว 1 แสนราย