แนะอย่าตระหนก “ลดคุ้มครองเงินฝาก 1ล้านบาท” ไม่กระทบรายย่อย

by ThaiQuote, 9 สิงหาคม 2564

สคฝ. แจงเรื่อง ลดคุ้มครองเงินฝาก จาก 5 ล้านเหลือ 1 ล้านบาท ย้ำสถานะธนาคารไทยยังแข็งแกร่ง ด้าน “อนุสรณ์” ชี้การลดความคุ้มครอง ช่วยเศรษฐกิจ-สถาบันการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยมีผลกระทบน้อยมากต่อประชาชน

กรณีหลังวันที่ 11 ส.ค.64 สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) จะปรับลดคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาทเป็น 1ล้านบาทนั้น นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สคฝ. ชี้แจงว่า เป็นการปรับลดวงเงินคุ้มครองเป็นลำดับตามความเหมาะสม และเป็นไปตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ปัจจุบัน มีผู้ได้รับความคุ้มครองบัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล จำนวนบัญชีครอบคลุมถึง 98.3% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 109 ล้านบัญชี โดยคุ้มครองทั้งบัญชีบุคคลธรรมดา นิติบุคคล บัญชีร่วมและบัญชีเพื่อ โดย สคฝ.มีกองทุนคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 131,339 ล้านบาท

ซึ่ง สคฝ.จะเป็นผู้ชำระบัญชี หากเกิดกรณีที่สถาบันการเงินภายใต้กำกับดูแลทั้ง 35 แห่งถูกเพิกถอนใบอนุญาต หลังจากมีการจำหน่ายทรัพย์ โดยผู้ฝากเงินจะได้รับการคุ้มครองทันที และจะโอนเงินคืนอัตโนมัติภายใน 30 วัน

สำหรับรูปแบบการคุ้มครองเงินฝาก จะคิดจากเกณฑ์ผู้มีเงินฝากแต่ละรายในแต่ละธนาคาร โดยแม้ว่าผู้ฝากจะมีบัญชีเงินฝากในธนาคารหนึ่งวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท มากกว่า 1 บัญชี ก็จะได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน

หากมีเงินเกิน 1 ล้านบาท จะได้รับความคุ้มครอง 1 ล้านบาท ส่วนที่เกินไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่จะมีสิทธิเรียกรับเงินคืน โดยจะต้องรอให้มีสถาบันการเงินนั้นมีการชำระบัญชีเสร็จสิ้น และรอลำดับการชำระคืนเจ้าหนี้ตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สคฝ.ยังไม่พบสัญญาณการย้ายเงินฝากที่ผิดปกติอย่างนัยสำคัญ ซึ่งในช่วง 4-5 ที่ผ่านมา พบว่าอัตราเงินฝากเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6% แม้ว่าในปีที่ผ่านมาการเติบโตจะลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังคงมีการเติบโตอยู่ที่ระดับ 2% ขณะที่ฐานะสถาบันการเงินของไทยยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง

โดยหากในอนาคตประชาชนมีรายได้เพิ่ม และมีทรัพย์เวลธ์เพิ่มขึ้น วงเงินคุ้มครองอาจจะปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมได้ โดยวงเงิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี ต่อรายสถาบันการเงิน พบว่าครอบคลุมคนจำนวนมาก และคนที่มีมากกว่า 1 ล้านบาทมีความเข้าใจในการลงทุนประเภทอื่น จึงเป็นที่มาในการทบทวนวงเงินคุ้มครอง

ด้าน รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวว่า การลดความคุ้มครองเงินฝากดังกล่าว จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพและมีความมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งลดภาระต่อเงินสาธารณะในกรณีเกิดปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินขึ้นในอนาคต หรือธนาคารถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ทั้งนี้อัตราขยายตัวของการฝากเงินของประชาชนและกิจการต่างๆ ได้ปรับตัวลงอย่างมากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยข้อมูลพบว่า จำนวนผู้ที่ฝากเงินในระบบสถาบันการเงินที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทในแต่ละธนาคาร มีอยู่ประมาณ 2% ของทั้งระบบ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเงินฝาก e-money มากขึ้นตามลำดับ

ดังนั้นจึงควรขยายวงเงินฝากให้ครอบคลุมเงินฝาก e-money และควรขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 1 ล้าน เป็น 2-3 ล้านบาท เมื่อบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองวงเงิน 1 ล้านไปเป็นระยะ 1-2 ปีแล้ว เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางการเงินอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

เรื่องที่น่าสนใจ

“Time” ยก “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” เป็น 1 ใน 100 สถานที่ยอดเยี่ยมปี 64