“อุตตม” แนะรัฐ เปิดข้อมูลสาธารณะ ลดความขัดแย้ง

by ThaiQuote, 8 กันยายน 2564

“อุตตม” ประธานที่ปรึกษา สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์) แนะรัฐบาล เดินกลยุทธ์ “รัฐบาลเปิด” เปิดข้อมูลบริหารประเทศเป็นสาธารณะ ช่วยลดความไม่รู้ เท่ากับช่วยลดความขัดแย้ง

 

นายอุตตม สาวนายน ประธานที่ปรึกษา สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์) โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า “รัฐบาลเปิด” ลดความไม่รู้=ลดความขัดแย้ง

 

การอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ท่านๆ ที่ได้ติดตาม คงจะเห็นถึงรูปแบบการนำเสนอ รวมทั้งเนื้อหาการอภิปราย ที่บางส่วนแตกต่างไปจากในอดีตพอสมควร โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารทางราชการบางชิ้น ที่ต้องยอมรับว่าน่าสนใจอย่างมาก



ผู้ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์การเมือง ต่างก็คาดหวังว่าการอภิปราย จะมีข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ เพื่อนำไปสู่การจัดแจงแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายผู้อภิปราย หรือ ผู้ถูกอภิปราย จะสะท้อนถึงความพึงพอใจของประชาชน ส่วนการอภิปรายนั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


อย่างไรก็ตาม การอภิปรายครั้งนี้ ซึ่งเน้นหนักเรื่องการบริหารจัดการของรัฐบาล ท่ามกลางการระบาดของไวรัส โควิด- 19 ซึ่งมีข้อมูลมากมาย หลากหลาย ซับซ้อน นั้น ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า วันนี้การเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาล คือประเด็นสำคัญมาก ในการบริหารประเทศ และจะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต


ขณะเดียวกัน พื้นฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตย คือสิทธิเสรีภาพ ซึ่งรวมความไปจนถึงสิทธิและเสรีภาพในการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรูปแบบวิธีการ โดยผ่านตัวแทนหรือ ส.ส. นับเป็นการใช้สิทธิทางอ้อมเท่านั้น และอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับข้อสงสัยที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิตัวจริงต้องการทราบ แต่จะดีกว่าไหม หากประชาชนสามารถเฝ้าติดตาม การบริหารประเทศของรัฐบาลตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่กำหนดเป็นห้วงเวลาเป็นวาระ และกระทำได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น


สิ่งที่ผมพูดถึง เรียกว่า “รัฐบาลเปิด” หรือ Open Government ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยมานานหลายปี โดยความหมาย คือ รัฐบาลในฐานะตัวแทนประชาชนที่รับอาสามาบริหารประเทศ ต้องเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ เพื่อความโปร่งใสในทุก ๆ ด้าน มุ่งเน้นให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบได้ตลอดเวลา


สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 และ พ.ร.บ.การบริหารงานและให้บริการภาครัฐระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562


เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันอนาคตไทยศึกษา หรือ Thailand Future ก็ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับ “รัฐบาลเปิด” ผมจึงขอหยิบยกประเด็นสำคัญ บางส่วนของบทความนี้มานำเสนออีกครั้ง โดยเชื่อว่า หากมีการสนับสนุนแนวคิด “รัฐบาลเปิด” ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก


สถาบันอนาคตไทยศึกษา ตั้งประเด็นว่า “ทำไมประเทศไทยต้องพยายามเป็นรัฐบาลเปิด” ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ในมุมมองของประชาชน มีหลายกรณีที่รู้สึกว่ารัฐปิด ประชาชนไม่รู้ว่ารัฐบาลทำอะไรบ้าง ไม่รู้ว่าภาษีของประชาชนถูกนำไปใช้อะไรทำอะไร เวลาต้องยื่นเอกสารติดต่อราชการ ก็ไม่รู้ว่าขั้นตอนต่าง ๆ ไปถึงไหนแล้ว และยังมีข้อสงสัยในการบริหารราชการแผ่นดินอีกหลากหลาย เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกดังกล่าว “รัฐบาลต้องเปิด”


ทั้งนี้บทความระบุว่า การเป็น “รัฐบาลเปิด” ไม่ใช่แค่การเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐเท่านั้น แต่การจะเป็นรัฐบาลเปิดได้ ต้องเปิดมากกว่านั้น คือ


1.“เปิดใจ” รัฐต้องปรับทัศนคติ ให้เป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง ทำทุกอย่างโดยอาศัยความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง


2. “เปิดกันเอง” หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองก่อน แบ่งปันและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และลดความทุกข์ร้อน ความลำบากของประชาชนเวลาติดต่อกับราชการ ที่ต้องเกิดภาระ เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา


3. “เปิดให้รู้” เปิดเผยให้ประชาชนรู้ว่า รัฐกำลังทำอะไรกันอยู่ โดยเปิดข้อมูล รวมไปถึงเปิดกระบวนการดำเนินการของรัฐ ลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล


4. “เปิดให้ร่วม” เปิดให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เข้ามาให้ข้อมูล สนับสนุน หรือร่วมพัฒนา ร่วมดำเนินการบางกิจกรรมที่รัฐไม่มีความเชี่ยวชาญ ร่วมเสนอแนะ การเปิดให้ร่วมแบบนี้จะทำให้รัฐออกแบบนโยบายได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

สถาบันไทยอนาคตศึกษา ยังระบุว่า การมีข้อมูลจะทำให้ไม่เกิดดราม่า ดังคำพูดที่ว่า “Data, not Drama” การไม่มีข้อมูลทำให้เกิดผลต่อเนื่องตามมาหลายอย่าง รวมถึงการเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของภาคส่วนต่าง ๆ ความรู้สึกแบ่งแยก


บทสรุป ของบทความชี้ว่า “รัฐบาลเปิด” หรือ Open Government เป็นเส้นทางสู่ “ประเทศเปิด” หรือ Open Country คือ ประเทศไทยสามารถเป็นประเทศที่ทุกภาคส่วนเปิดใจให้กัน เปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงเปิดให้รู้เรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างกัน ร่วมคิดและร่วนทำเพื่อประเทศ โดยการเป็นรัฐบาลเปิด หรือ Open Government ต้องไม่ใช่เพียงแค่คำพูดที่บอกว่า “เปิด” ต้องลงมือทำ ลงมือเริ่มเปิดจริง ๆ เปิดใจ เปิดกันเอง เปิดให้รู้ เปิดให้ร่วม ในรูปแบบที่เหมาะสม เพราะสุดท้ายแล้วการกระทำสำคัญกว่าคำพูด


สำหรับผมแล้ว การเป็นรัฐบาลเปิดนั้น จะเกิดขึ้นจริงได้ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ (Trust) ให้กับประชาชนเสียก่อน โดยการลงมือทำให้เห็น เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลโดยสะดวก แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และเมื่อความเชื่อมั่นเกิด ความมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศก็จะเกิดขึ้นตามมา อันจะเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ รวมถึงการลดความขัดแย้ง เสริมสร้างความรักความสามัคคีให้คนทั้งประเทศ ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะได้สนับสนุนส่งเสริม ให้เกิด “รัฐบาลเปิด” เพื่อพัฒนาประเทศไปข้างหน้าร่วมกัน