บพท. ใช้ความรู้ แก้ความจน อย่างยั่งยืน ช่วยคนไทย แล้วกว่า 4.5 แสนคน

by ThaiQuote, 21 กันยายน 2564

บพท. เดินหน้าสร้างแพลตฟอร์ม Big Data แก้ปัญหาความยากจน ผ่านการวิจัยองค์ความรู้ และกลไกมหาลัย ต่อเนื่องเพิ่มเติม10 จังหวัดในปี 64 จับมือ ศอ.บต. ร่วมพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ เผยที่ผ่านมา คนไทยได้รับความช่วยเหลือแล้วกว่า 9.7 หมื่นครัวเรือนรวม 4.5 แสนคน เปลี่ยนวิถีใหม่คนไทย สู่ความยั่งยืน

 

นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพท.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

 

โดย บพท.ได้ให้การสนับสนุนองค์ความรู้จากงานศึกษาวิจัยทางวิชาการ และประสบการณ์ที่ดำเนินการผ่านกลไกมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่อย่างได้ผลมาแล้วในพื้นที่ 10 จังหวัดเมื่อปี 2563 และอยู่ระหว่างการดำเนินงานเพิ่มเติมอีกในพื้นที่ 10 จังหวัดในปี 2564 นี้ โดยการร่วมมือกับ ศอ.บต. เพื่อเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาความยากจน ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่

 

สำหรับงานวิจัย การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ นั้น จะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของประเทศ ซึ่งใช้งานวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกลไกการทำงานในพื้นที่ โดยเอาปัญหาของพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อหาคำตอบว่า “คนจนคือใคร-อยู่ที่ไหน-จนเพราะอะไร-จะพ้นความจนได้อย่างไร” ผ่านการเก็บข้อมูลจริง โดยใช้กลไกมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในพื้นที่เป้าหมาย

 

ที่ผ่านมา ในปี 63 มี 10 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และในปี 64 ได้ขยายพื้นที่เป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 10 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา

 

ผ่าน 3 กระบวนการหลักประกอบด้วย 1) การค้นหา (Identify) สอบทานข้อมูล (Verify) และสำรวจทุนคนจนและครัวเรือนระดับพื้นที่ 2) การพัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือไปยังหน่วยงาน ภาคีต่าง ๆ และ 3) การออกแบบโครงการช่วยเหลือคนจนอย่างตรงเป้า (Operating Model) ที่สอดคล้องกับบริบทและคนจนเป้าหมาย สร้างการเรียนรู้ พัฒนาทักษะในการดำรงชีพ นำไปสู่การเสริมสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนจน

 

โดยจากผลการทำงานดังกล่าวสามารถสร้างระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนแสดงข้อมูลเป็น Dashboard แบบ Real time ที่สามารถชี้เป้าคนจนอยู่ที่ไหน โดยใช้เกณฑ์การประเมินศักยภาพหรือทุนการดำรงชีพของคนจนเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ 1) ทุนมนุษย์ 2) ทุนทรัพยากร 3) ทุนการเงิน 4) ทุนกายภาพ 5) ทุนสังคม

 

รวมทั้งวิเคราะห์มิติปัญหา 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสุขภาพ 2) ด้านความเป็นอยู่ 3) ด้านการศึกษา 4) ด้านรายได้ 5) ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ออกมาเป็น Livelihood Profile ตามแนวคิด “ระบบการดำรงชีพอย่างยั่งยืน” ขณะนี้ค้นหาและสอบทานคนจนได้ทั้งสิ้น 97,042 ครัวเรือน 451,444 คน จาก TPMAP ที่ตั้งไว้ 131,040 คน

 

ขณะเดียวกันได้ส่งต่อความช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น 97,042 ครัวเรือน 451,444 คน คิดเป็น 100% ส่งต่อข้อมูลทั้งหมดที่ค้นหาและสอบทานได้ ไปยังกระทรวงการคลังและสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ (สศป.) – ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดสรรและเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ คิดเป็น 100 %

 

โดยส่งต่อไปยังโครงการบ้านมั่นคงของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. 10,024 ครัวเรือน และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 97,745 คน ในระดับพื้นที่ส่งต่อไปยังหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เกี่ยวข้อง 15,341 ครัวเรือน 46,140 คน (ข้อมูลวันที่ 5 ก.ย.64)

 

ขณะนี้มีการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไปแล้ว 2,726 ครัวเรือน จำแนกเป็น พอช. 515 ครัวเรือน (พอช. สร้างบ้าน 18,000 บาท/ราย) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) 2,189 ครัวเรือน กสศ. 22 ราย (36,000 บาท/ราย) คิดเป็นงบประมาณที่ช่วยเหลือ 17,608,000 บาท

 

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ดำเนินการจัดทำโมเดลแก้จน (Operating Model) ด้วยความร่วมมือของกลไกจังหวัดและมีการเชื่อมโยงสู่แผนจังหวัดที่เห็นเด่นชัด ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ขับเคลื่อนโครงการนำร่อง “กุดบากโมเดล” ได้รับงบประมาณจากจ.สกลนคร จำนวน 60 ล้านบาท มาขยายผลการแก้ไขปัญหาความยากจนในจ.สกลนคร สถาบันวิทยาลัยชุมชนทำนวัตกรรมแก้จน “แพะเงินล้าน” เป็นตัวแบบสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน สู่แผนพัฒนาจ.ชัยนาท ระยะ 5 ปี (2566–2570) และ แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดชัยนาท ประจำปีงบประมาณ 2566