ตรวจ PM2.5 ด้วย “ซูเปอร์คอมพิวเตอร์” รู้ผลเร็วขึ้น 15 เท่า คาดการณ์ล่วงหน้าได้ 3 วัน

by ThaiQuote, 23 กันยายน 2564

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ยังไม่ได้หายไปไหน แต่ที่ไม่ได้รับการพูดถึงมากมาย อาจเป็นเพราะเรายังกังวลกับเรื่องของสถานการณ์การะบาดของโควิด-19 และอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกลงมาแทบทุกวัน ช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองไปได้ในระดับหนึ่ง

 

แม้ว่าในช่วงนี้ปัญหาPM2.5 จะลดน้อยลงไป แต่หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ยังคงทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบคาดการณ์คุณภาพอากาศ เพื่อใช้ในการประเมินสถานการณ์PM2.5 ทำให้สามารถเตรียมตัวระวังป้องกันก่อนล่วงหน้า ผ่านการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ “ซูเปอร์คอมพิวเตอร์”

 

“อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การพัฒนาระบบคาดการณ์คุณภาพอากาศดังกล่าว เป็นการประเมินสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ และพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ผ่านการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง จากสวทช.

 

ทำให้สามารถคาดการณ์สถานการณ์ปัญหา PM 2.5 ของประเทศ ช่วยในการตัดสินใจ และวางแผนบริหารจัดการ เพื่อตอบโต้สถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

 

“ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล” กล่าวถึงการทำงานของระบบ “ซูเปอร์คอมพิวเตอร์” ว่า เริ่มจากการนำข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กและข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา มาใช้ในการเตรียมข้อมูลบน Computer Workstation จากนั้นจึงถ่ายโอนข้อมูลดังกล่าวไปยังระบบ High-Performance Computing หรือ HPC ของศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center) หรือ ThaiSC เพื่อประมวลผลโดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์เฉพาะทางด้านมลพิษอากาศ ด้วยประสิทธิภาพระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ทำได้สามารถประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว

 

โดยข้อมูลผลการคำนวณที่ได้จะถูกถ่ายโอนกลับมายัง Computer Workstation ที่กรมควบคุมมลพิษ เพื่อวิเคราะห์และจัดรูปแบบการแสดงข้อมูลเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และสื่อออนไลน์ของทาง คพ. และแอปพลิเคชัน ‘รู้ทัน’ ของเนคเทค สวทช. เพื่อรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษทางอากาศให้กับประชาชน

 

ทั้งนี้ การทำงานของระบบดังกล่าว สามารถประมวลผลระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้เร็วขึ้นถึง 15 เท่า จากเดิมใช้เวลาคำนวณ 11.5 ชั่วโมง ลดลงเหลือเพียง 45 นาที ทำให้กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ล่วงหน้าถึง 3 วัน