กทม. เตรียมเปิด 9 สวนสาธารณะใหม่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้คนกรุง ปลายปีนี้

by ThaiQuote, 11 ตุลาคม 2564

ความคืบหน้าโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวฌฉลี่ย ให้ได้ 10 ตร.ม./คน ภายในปี 2573 พร้อมเพิ่มโอกาสการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ประชาชนสามารถเดินถึงได้ในระยะ 400 เมตร หรือภายใน 5-10 นาที และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ในเมือง (Urban Tree Canopy) จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 17% ให้เป็น 30%

 

จากข้อมูลล่าสุดพบ เมื่อวันที่ 1 ก.ย.64 กทม. มีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบของสวนสาธารณะ สวนหย่อม รวม 8,796 แห่ง พื้นที่ประมาณ 25,502 ไร่ อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 7.30 ตร.ม./คน คิดเป็น 2.60% ของพื้นที่กทม.

 

โดยจากเป้าหมายดังกล่าว กทม. ได้เร่งพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในส่วนของที่ดินของหน่วยงานรัฐ เช่น กทม. กรมธนารักษ์ การรถไฟแห่งประเทไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และพื้นที่ของเอกชน เช่น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงที่ดินในภาคประชาชน ซึ่งได้ส่งมอบให้พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวเพื่อให้ประโยชน์ร่วมกัน

 

จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ กทม.ได้ดำเนินการเพิ่มสวนสาธารณะและเปิดให้บริการแล้ว 6 แห่ง รวมกว่า 91 ไร่ ได้แก่ 1.สวนปิยะภิรมย์ พื้นที่ 10 ไร่ 2.สวนสันติพร พื้นที่ 2.5 ไร่ 3.สวนวนาภิรมย์ร่มเกล้า พื้นที่ 30 ไร่ 4.สวนสาธารณะบริเวณโครงการต่อเชื่อมถนนกาญจนาภิเษก-ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา พื้นที่ 46 ไร่ 5.สวนวิภาภิรมย์ ภายในซอยวิภาวดี 18 แยก 3 พื้นที่ 2 ไร่ 6.สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ พื้นที่ 262.7 ตร.วา

 

ขณะเดียวกันในแผนปี 64-65 นี้ กทม.ได้เตรียมเปิดสวนสาธารณะเพิ่มอีก 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสวนเทียนทะเลพัฒนาพฤษาภิรมย์ เขตบางขุนเทียน พื้นที่ 37 ไร่ 2.สวนจากภูผาสู่มหานที เขตจตุจักร พื้นที่ 26 ไร่ 3.สวนสาธารณะบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตทวีวัฒนา พื้นที่ 98 ไร่ 4.สวนป่านิเวศอ่อนนุช เขตประเวศ ระยะที่ 1 พื้นที่ 18 ไร่ 5.สวนป่านิเวศหนองแขม เขตหนองแขม พื้นที่ 14 ไร่

 

6.สวนป่าเอกมัย เขตวัฒนา พื้นที่ 5.6 ไร่ 7.สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน พื้นที่กว่า 2 ไร่ 8.พื้นที่ภายในซอยวชิรธรรมสาธิต 35 เขตพระโขนง พื้นที่ 14 ไร่ 9.ลานกีฬาแสงทิพย์ ซอยปรีดีพนมยงค์ 2 เขตวัฒนา พื้นที่ 5.4 ไร่

 

สำหรับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และให้ประชาชนได้มีสถานที่เพื่อทำกิจกรรมสันทนาการแล้ว ประโยชน์จากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวยังจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ กทม.ดีขึ้น

 

โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวดังกล่าว จะช่วยเป็นเหมือนปอด หรือเครื่องกรองอากาศที่ช่วยลดฝุ่นละออง มลพิษ ลดภาวะโลกร้อนช่วยให้อากาศในพื้นที่กทม. ดีขึ้น ยกระดับการเป็นเมือง Work-Life Balance ให้เพิ่มสูงขึ้นจากอันดับ 49 ใน 50อันดับเมืองทั่วโลก