“ชุมชนไม้มีค่า” จ.แพร่ปลูกไม้ผล-เห็ดป่า ทำเงินปีละกว่า 1 ล้านบ.

by ThaiQuote, 1 พฤศจิกายน 2564

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่งมอบศูนย์การเรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนไม้มีค่า” ให้แก่จังหวัดแพร่ ดำเนินโครงการขยายผลเพิ่มศักยภาพชุมชนไม้มีค่าในพื้นที่ต้นแบบการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา พื้นที่ชุมชนบ้านบุญแจ่ม ต.นำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่

 

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ดำเนินงานวิจัยและขยายผลโครงการดังกล่าว ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยโดย วช. ในพื้นที่ชุมชนบ้านบุญแจ่ม ต.นำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านในโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่เดิมมีการเผาป่าและวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชโดยไม่จำกัด ส่งผลกระทบทำให้แหล่งอาหารป่าในธรรมชาติลดน้อยลงและมีความผันแปรตามสภาพอากาศ

กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดมลพิษอากาศและหมอกควัน รวมทั้งการปนเปื้อนของสารปราบศัตรูพืชในแหล่งน้ำ

จากปัญหานี้ วว. จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ -แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ดำเนินงานวิจัย ส่งเสริม และถ่ายทอดองค์ความรู้ การปลูกป่าและพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ด เพื่อสร้างแหล่งอาหารและรายได้ในชุมชน รวมทั้งสร้างเครือข่าย ขยายความรู้ และขยายผล

โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี การผลิตกล้าไม้และเชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในชุมชน เพื่อการปลูกป่า และมีผลผลิตจากเห็ดป่าที่สร้างมูลค่า มีผลผลิตด้านการเกษตร (เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า) และพืชผัก ผลไม้ (กาแฟ อะโวคาโด มะม่วง ขนุน) ตลอดจนการปลูกไม้มีค่า โดยใช้ระบบการปลูกแบบผสมผสาน (วนเกษตร) ระหว่างป่าไม้ เห็ดป่า และพืชเกษตร ช่วยฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ พร้อมกับการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มากขึ้น

สำหรับเห็ดป่าไมคอร์ไรซา (Mycorrhizal fungi) เป็นเห็ดป่าที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไคล เห็ดน้ำหมาก เห็ดน้ำแป้ง เห็ดถ่าน เป็นต้น ซึ่งเป็นราที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโต โดยการเจริญและการเกิดดอกของเห็ดไมคอร์ไรซาจำเป็นต้องพึ่งพากับต้นไม้ชนิดที่เป็นพืชอาศัย โดยความสัมพันธ์ระหว่างเห็ดป่ากับต้นไม้เป็นแบบเกื้อกูล (Symbiotic)

ในปี 62-63ได้ดำเนินการในพื้นที่จ.แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง เพชรบูรณ์ และปี 2564 ดำเนินการในจ.เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว และสงขลา โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบในทุกจังหวัดๆ ละ 1 แห่ง

ทั้งนี้มีผลดำเนินงานให้แก่เกษตรกร อปท.และหน่วยงานภาครัฐจำนวน 1,000 คน ในพื้นที่ 13 จังหวัด สนับสนุนกล้าไม้มีค่าและพืชเศรษฐกิจที่ใส่เชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาจำนวน 20,000 ต้น ก่อให้เกิดพื้นที่สีเขียว 100 ไร่ รวมทั้งจัดทำคู่มืออบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับเผยแพร่ต่อสาธารณชน จำนวน 6,500 เล่ม สามารถเพิ่มมูลค่าของกล้าไม้เป็น 2 เท่า โดยการใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในกล้าไม้ก่อนการจำหน่าย

และพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ จำนวน 2 แห่ง ในชุมชนบ้านบุญแจ่ม จังหวัดแพร่ ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้เห็ดป่าชุมชนต้นแบบ และศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบชุมชนไม้มีค่า โดยมีผู้เข้ามาศึกษาดูงานแล้วประมาณ 1,000 คน

การประเมินผลผลิตและรายได้ของเห็ดที่เพาะร่วมกับการปลูกต้นไม้ของโครงการ พบว่า เห็ดตับเต่าและผลผลิตจากไม้ผล จะเริ่มให้ผลผลิต ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป จะก่อให้เกิดรายได้ ประมาณ 1,336,800 บาท/ปี

ส่วนเห็ดป่าไมคอร์ไรซาอื่น เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก ที่เพาะร่วมกับไม้ป่าเศรษฐกิจ จะเริ่มให้ผลผลิต หลังจากปีที่ 4 เป็นต้นไป จะก่อให้เกิดรายได้ ประมาณ 684,800 บาท/ปี นอกจากนั้นเกษตรกรยังจะมีรายได้อื่นๆ จากการขายผลผลิตของไม้ผลช่วงหลังจากปีที่ 4 และสามารถขายผลผลิตจากเนื้อไม้ของไม้ป่าเศรษฐกิจหลังจากปีที่ 15 เป็นต้นไป

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“ถั่วมูคูน่า” พืชคลุมดินในสวน ช่วยเกษตรกรไทย ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี-ยาฆ่าหญ้า