เปิดสถิติน่ากังวล แรงงานข้ามชาติกว่า 2 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึง “วัคซีนโควิด”

by ThaiQuote, 8 พฤศจิกายน 2564

จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มในไทย ครอบคลุมไปถึงประชากรข้ามชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานชาวกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่กระจายตัวอยู่แทบทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยมีพบว่าในปี 61 มีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมากถึง 3,010,015 คน

 

แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ นับเป็นกลุ่มสำคัญหนึ่งของคลัสเตอร์การระบาดโควิด-19 ในระลอกที่ผ่านมา โดยใน ส.ค.64 ข้อมูลสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แผนงานประชากรข้ามชาติ ภายใต้แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก พบว่า ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.63 - 20 ส.ค. 64

 

มีผู้ติดเชื้อสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาและไม่ระบุสัญชาติจำนวน 109,422 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.8 จากมีผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดในประเทศไทยรวม1,009,710ราย

 

โดยพบผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นชาวเมียนมา ในจ.สมุทรปราการ ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 จากการติดเชื้อในสถานบันเทิงการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีแรงงานข้ามชาติบางส่วนเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนา แต่ส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในประเทศโดยพักอาศัยอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง

 

ทั้งนี้ ในเดือนเม.ย.64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นประชากรข้ามชาติ จำนวน 565 ราย เดือนพ.ค.64 จำนวน15,163 ราย ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 25 เท่า ในระยะเวลาเพียง 1 เดือนและมีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 64 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นประชากรข้ามชาติถึง 30,385ราย

 

ซึ่งสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังที่รัฐบาลประกาศให้สถานประกอบการต่างๆปิดกิจการชั่วคราวและกำหนดให้มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

 

ด้านการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในประชากรที่ไม่ใช่คนไทย จากข้อมูลกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ส.ค.64 มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว จำนวน 1 โดส จำนวน 551,907 คน และครบ 2 โดสจำนวน 463,552 คน

 

หากเปรียบเทียบกับตัวเลขจำนวนแรงงานข้ามชาติในปี 61 จะพบว่า มีแรงงานข้ามชาติอีกกว่า 2.4 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

 

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ได้รายงานจำนวนชาวต่างชาติในประเทศไทยที่ได้รับวัคซีน ตั้งแต่ ก.พ. - ส.ค.2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 356,337 คน และได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 107,106 คน โดยสัญชาติที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดได้แก่เมียนมา จำนวน 178,531 คนรองลงมาได้แก่ กัมพูชา จำนวน 56,580 คน

 

จะเห็นได้ว่าข้อมูลจากทั้ง 2 แหล่งแสดงจำนวนที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก จากการวิเคราะห์เบื้องต้น เป็นผลมาจาก ผู้ได้รับวัคซีนจากภาคเอกชน หรือในระบบประกันสังคมบางส่วน ไม่ได้ลงทะเบียนในระบบ MoPH Immunization center ของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงยังมีชาวต่างชาติอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับวัคซีนภายใต้สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในประเทศไทย


เรื่องดังกล่าว ดร.สุรสักย์ธไนศวรรยางกูร นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะว่า การที่ไทยเปิดประเทศอย่างเป็นทางการโดยเปิดให้ชาวต่างชาติถึง 63 ประเทศสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว รวมทั้งสถานประกอบการสามารถเปิดดำเนินการได้

 

แต่ขณะที่จำนวนการฉีดวัคซีนรวมทั้งระบบการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในประชากรข้ามชาติยังขาดความครอบคลุม โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ประกอบอาชีพก่อสร้างและทำงานในสถานประกอบการต่างๆ

 

ดังนั้นการกำกับให้สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ซ้ำ โดยมาตรการต่างๆที่กลับมามีความสำคัญอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการเร่งฉีดวัคซีนและจัดหาชุดตรวจให้กับแรงงานจัดระบบแยกตัวและให้การช่วยเหลือเร่งด่วนด้านรักษาพยาบาลแก่แรงงานเมื่อตรวจพบเชื้อ จัดหาอุปกรณ์การป้องกันและเน้นย้ำพฤติกรรมการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นต้น