ปั้นสูตร “แก้จน” นำร่อง 20 จังหวัด พลิกชีวิตคนจน 6.7 แสนคน

by ThaiQuote, 24 พฤศจิกายน 2564

บพท.ประสานพลังวิชาการ 18 มหาวิทยาลัย พัฒนาสูตรแก้ปัญหาความยากจน ร่วมกับภาคีราชการ ประชาสังคม และเอกชน พลิกชีวิตคนจน 676,085 คน ใน 20 จังหวัดนำร่อง หวังฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

 

“กิตติ สัจจาวัฒนา” ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุง

 

ดังนั้น บพท.จึงให้ความสนใจส่งเสริมให้มีนำวิชาความรู้จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าไปช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ โดยร่วมงานกับมหาวิทยาลัย 18 แห่ง ดำเนินโครงการนำร่องใน 20 จังหวัด ตามแผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

 

โดยใช้ชุดข้อมูลแผนที่ความยากจนประเทศไทย (Thai Poverty Map-TP Map) ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดทำร่วมกัน และชุดข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นฐานการทำงาน

 

ทั้งนี้ บพท.ได้พัฒนากระบวนการค้นหาสอบทานคนจนที่ตกหล่นจากระบบเพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึก (deep data) โดยระบบ PPPconnext ซึ่งเป็นระบบข้อมูลที่แสดงทั้งปัญหาและทุนศักยภาพในการดำรงชีพคนจน 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนการเงิน ทุนกายภาพ ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ระบบนี้จะสามารถวิเคราะห์และจำแนกกลุ่มเป้าหมายคนจนเป็น 4 ระดับ คือ ระดับอยู่ลำบาก อยู่ยาก พออยู่ได้ และอยู่ได้ ซึ่งเป็นเสมือนการตรวจเอ็กซเรย์เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงตามสาเหตุ


สำหรับกระบวนการค้นหาดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย 18 แห่ง ร่วมกับกลไกภาครัฐ ภาคประชาสังคม และขบวนองค์กรชุมชน ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ กลไกการมีส่วนร่วมส่งผลต่อการช่วยเหลือเร่งด่วน สำหรับคนจนที่เป็นคนป่วย คนชรา คนพิการ เป็นระบบส่งต่อลำดับแรก

 

ต่อจากนั้นจะมีระบบส่งต่อในปัญหาสำคัญอื่นๆ เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัย จะเข้าสู่โครงการบ้านพอเพียงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ปัญหาการศึกษาส่งต่อสู่กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา ปัญหาสาธารณูปโภคส่งต่อหน่วยงานในพื้นที่ทีรับผิดชอบ ฯลฯ

 

รวมทั้งโครงการพัฒนานวัตกรรมแก้จนในหลากหลายรูปแบบที่สอดคล้องกับบริบทและสภาพปัญหา เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร การพัฒนาผลตอบแทนบริการระบบนิเวศน์ (pay for eco system) สำหรับคนจนอนุรักษ์ป่า การยกระดับระบบสวัสดิการชุมชนให้ขยายบริการครอบคลุมคนจน การพัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น

 

ส่วนสำคัญอีกเรื่อง คือ การนำส่งระบบข้อมูลคนจนและโครงการแก้จนเข้าสู่ระบบแผนพัฒนาท้องถิ่น หรือแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนเกิดความต่อเนื่องโดยหน่วยงานรัฐในพื้นที่

 

“แมน ปุโรธกานนท์” หัวหน้าแผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ บพท. เปิดเผยว่า การเดินสำรวจเคาะประตูบ้านในพื้นที่นำร่องดังกล่าว สร้างโอกาสการเรียนรู้สภาพปัญหาอย่างชัดเจน และทำให้สามารถค้นพบคนจนที่ตกสำรวจเป็นจำนวน 336,239 คน ซึ่งเมื่อสมทบกับตัวเลขคนจนตามชุดข้อมูล จปฐ.และแผนที่ความยากจนประเทศไทย จะมีจำนวนคนจนรวมกันถึง 676,085 คน

 

เราจำแนกกลุ่มคนจนในจังหวัดนำร่องออกเป็น 4 ระดับคือระดับสีแดง เป็นกลุ่มคนจนประเภทอยู่ลำบาก สีส้ม เป็นกลุ่มคนจนประเภทอยู่ยาก สีเหลือง เป็นกลุ่มคนจนประเภทพออยู่ได้ และสีเขียว เป็นกลุ่มคนจนประเภทอยู่ได้

 

คนจนใน 20 จังหวัดนำร่อง เป็นคนจนระดับสีส้ม มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39 รองลงมาเป็นคนจนระดับสีเหลือง มีอยู่ร้อยละ 29 และคนจนระดับสีแดง มีอยู่ร้อยละ 26 ขณะที่คนจนระดับสีเขียวมีอยู่ร้อยละ 6

 

เมื่อจัดแบ่งประเภทของปัญหาพบว่า คนจนส่วนใหญ่มีปัญหาขาดแคลนทุนกายภาพ คือขาดที่ทำกินมากที่สุด รองลงมาคือปัญหาขาดแคลนทุนมนุษย์ ได้แก่ พื้นฐานการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัดและพื้นฐานด้านสุขภาพอนามัย

 

และถัดลงไปคือปัญหาขาดแคลนทุนธรรมชาติ ได้แก่ การที่ต้องประสบภัยธรรมชาติซ้ำซาก ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง หรือพายุ ส่วนปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์ และปัญหาขาดแคลนโอกาสการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐอยู่ในลำดับรั้งท้าย

 

ในการช่วยเหลือต้องออกแบบให้สอดคล้องกับระดับความเข้มข้นและเหตุปัจจัยของความจน เช่น กลุ่มสีแดง เป็นกลุ่มที่ต้องเร่งประสานเชื่อมต่อเข้ากับระบบสวัสดิการของรัฐให้เร็วที่สุด

 

ขณะที่คนจนกลุ่มสีส้ม จะเน้นการพัฒนาทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพ ส่วนคนจนกลุ่มสีเหลือง จะเน้นการช่วยแสวงหาที่ ทำกิน และแหล่งทุน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

 

ขณะที่คนจนกลุ่มสีเขียว จะเน้นการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาชีพ และทักษะการจัดการทางการเงิน เพื่อความมั่นคงยั่งยืนในการดำรงชีวิต

 

สำหรับ 20 จังหวัดนำร่องที่ บพท.เข้าไปมีบทบาทแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้แผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ สกลนคร ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร มุกดาหาร ชัยนาท แม่ฮ่องสอน ปัตตานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย พัทลุง ยะลา นราธิวาส พิษณุโลก และลำปาง