“ขนมไทยไกลหวาน” ธุรกิจอาหารเพื่อคนรักสุขภาพ ไขปริศนาที่มาของชื่อ “อ.ผักไห่”

by ThaiQuote, 3 ธันวาคม 2564

ธุรกิจอาหาร ยังคงเป็นอีก 1 ธุรกิจยอดนิยมที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการเริ่มธุรกิจใหม่ และด้วยชื่อของแบรนด์ที่เข้ากับกระแสปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ผู้บริโภคในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คนให้ความสนใจเรื่องของสุขภาพมากยิ่งขึ้น

 

ทำให้ “ขนมไทย ไกลหวาน” เป็น 1 ในผู้ประกอบการ SME เด่นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เข้าร่วมงาน Smart SME EXPO 2021

 

 

“ขนมไทย ไกลหวาน คือ ขนมไทยหวานน้อย เพื่อสุขภาพ เกิดจากการได้รับการถ่ายทอดการทำอาหารและขนมไทยจากคุณแม่ ซึ่งตอนเด็กๆ ที่คุณแม่เป็นแม่ค้าขนมไทย พายเรือร้องขายขนมแม่เอ๊ย อยู่ในแม่น้ำน้อย เราก็มีส่วนร่วมด้วย เมื่อแม่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน แต่ชอบทานขนมหวานมาก เราจึงคิดค้นวิธีที่จะทำให้ผู้ป่วยอย่างโรคเบาหวานสามารถรับประทานขนมไทยได้ ถ้าแม่บอกว่าอร่อย เราจะลดหวานลงไปอีก จนเขาบอกว่าไม่อร่อยแล้ว นั่นหมายถึงระดับความหวานพอดี ไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว”

 

 

“ประเสริฐ จรรยชาติ” หรือ “ครูเผือก” เจ้าของแบรนด์ขนมไทยไกลหวาน บอกกับเรา

 

ความน่าสนใจของ ขนมไทย ไกลหวาน นอกจากจะเป็นขนมที่ไม่หวานเหมือนชื่อแล้ว “ครูเผือก” ยังเสาะแสวงหาความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยี มาผสมผสานกับภูมิปัญญาการทำขนมไทย จนสร้างเอกลักษณ์ในแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาอีกด้วย

 

เริ่มต้นด้วยการใช้ กลีเซอรีน (Glycerin) ของเหลวที่ไม่มีสี มีความหนืด และมีรสหวาน แทนน้ำตาล ในวุ้นกรอบสมุนไพร ทำให้ความหวานเท่าเดิม แต่แคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ

 

 

การใช้ความเปรี้ยวในสูตรขนมไทย เพื่อช่วยยืดอายุของการเก็บรักษา ป้องกันการทำงานของแบคทีเรีย หรือการใช้บรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ ถุงรีทอร์ทเพาซ์ (retort pouch) ที่ช่วยรักษาคุณภาพของขนมไทย ให้สามารถเก็บไว้ได้นาน

 

รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ และบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น บรรจุภัณฑ์พุทรากวน (พุทราเป็นต้นไม้ประจำ จ.พระนครศรีอยุธยา) ที่ออกแบบเป็นรูป หอนาฬิกาสัญลักษณ์ของ อ.ผักไห่

 

 

ขนมไทย ไกลหวาน มีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น หน้าปลาแห้ง พร้อมรับประทาน ที่ใช้โรยใส่ข้าวเหนียวหรือแตงโม วุ้นกรอบสมุนไพร ถั่วกรอบสมุนไพร ทองม้วน ฝอยทองกรอบ

 

นอกจากนี้แล้วยังมี แยมมะระขี้นก และสบู่เหลวมะระขี้นก ทำให้เราเกิดความสงสัยว่า เหตุใดจึงต้องเป็น “มะระขี้นก”

 

 

“ความหมายของ “ผักไห่” คือ “มะระขี้นก” ซึ่งเป็นความหมายจากคำไทยสมัยโบราณ เมื่อเรารู้ที่มาที่ไปของท้องถิ่น ซึ่งอาจเป็นเพราะในอดีตพื้นที่บริเวณมี มะระขี้นก เป็นจำนวนมาก เราจึงตั้งวิสาหกิจชุมชนผักไห่ เพื่อต่อยอดเกิดเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านในชุมชนขึ้นมา ผลิตสินค้าของชุมชนจากมะระขี้นก ทั้งเค้ก แยม แชมพู สบู่ ผ้ามัดย้อม เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน โดยหวังว่าเมื่อเราสร้างอัตลักษณ์ขึ้นแล้วจะสามารถขับเคลื่อนชุมชนไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนได้”

 

“ครูเผือก” เฉลยที่มาของผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดมาจากขนมไทย ไกลบ้าน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา

 

ขณะเดียวกัน “ครูเผือก” ยังได้เปิด “พิพิธภัณฑ์ขนมไทยดินปั้น” เพื่อสร้างเรื่องราวของการทำขนมไทย ที่เขาเปิดสอนให้คนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้วิธีการทำขนมไทย โดยเริ่มจากปนะวัติศาสตร์ของขนมไทย ที่เริ่มตั้งจาก สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์

 

สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้จาก การให้ความช่วยเหลือจาก ธ.ก.ส. ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งเงินทุน แล้วยังช่วยเปิดโลกทรรศ์ทางด้านการตลาด ความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งการช่วยโปรโมตด้านการตลาดให้กับวิสาหกิจชุมชนผักไห่

 

ความหวังของครูเผือก มองว่า หากชุมชนแข็งแรงก็สามารถที่จะสร้างชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยวชุมชน สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และทำให้ชุมชนยั่งยืนได้ไม่ยาก

 

 

สำหรับผู้ที่สนใจกำลังมองหาแฟรนไชส์ ต้องการต่อยอดธุรกิจ รวมทั้งเลือกซื้อสินค้าจากผลิตภัณฑ์ชุมชนและนวัตกรรมต่างๆ ได้ภายในงาน Smart SME EXPO 2021 ตั้งแต่วันนี้- 5 ธันวาคม 2564 ณ ฮอลล์ 6 อิมแพ็คเมืองทองธานี ลงทะเบียนเข้างานคลิก https://expo.smartsme.co.th/register/ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 086-314-1482 , 094-915-4624