“ผ้าจากผักตบชวา” นวัตกรรม จากรั้วมหาวิทยาลัย สร้างชุมชนยั่งยืน

by ThaiQuote, 14 ธันวาคม 2564

วช. ติดตามความสำเร็จโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผักตบชวาอุตสาหกรรมแฟชั่น มทร.ธัญบุรี ต่อยอดนวัตกรรม ผ้าจากผักตบชวา ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนใกล้เคียง ช่วยสร้างอาชีพรายได้เสริมให้ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ติดตามผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผักตบชวาอุตสาหกรรมแฟชั่น ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และคณะนักวิจัย จนสามารถสร้างแบรนด์ผ้าชื่อ “สาคร” และ แบรนด์ “บ้านหัตถศิลป์” อีกด้วย

 

 

แนวคิดในการนำผักตบชวามาพัฒนาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและยังเป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน เป็น นวัตกรรมเส้นใยจากผักตบชวา ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสู่อุตสาหกรรม สามารถนำพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบทั้งเครื่องแต่งกายบุรุษและสตรี ของใช้ตกแต่งบ้านเรือน กระเป๋าแฟชั่น เป็นต้น

 

 

โดยคุณลักษณะพิเศษของเส้นใยผักตบชวานั้น ระบายความร้อนได้ดี มีความแข็งแรง สามารถดูแลรักษาง่ายเช่นเดียวกับผ้าเส้นใยธรรมชาติอื่น ๆ มีน้ำหนักเบา รวมทั้งเกิดลวดลายที่มีผิวสัมผัสสวยงามเป็นธรรมชาติ โดยตลาดส่งออกทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เกาหลี

 

 

ทั้งนี้ นักวิจัยได้มีการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของเส้นด้ายผักตบชวา 4 ด้าน คือ เบอร์เส้นด้าย เกลียว ความสม่ำเสมอของเส้นด้าย และความต้านทานต่อแรงดึงขาดก่อนการผลิตเครื่องแต่งกายต้นแบบ

 



นักวิจัยได้มีการต่อยอดองค์ความรู้ลงไปสู่ชุมชนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัย เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีชุมชนต่าง ๆ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อไปประยุกต์ใช้แล้ว อาทิ ชุมชนผลิตเสื้อผ้า ชุมชนผลิตพวกเก้าอี้ (เคหะสิ่งทอ) ผลิตพรมจากผักตบชวา

 

 

โดยการผลิตพรมจะมีทีมนักวิจัยจากคณะวิศวฯ คอยช่วยดูแล เรื่องของเทคนิคการผลิตที่ไม่เกิดปัญหาเชื้อรา ส่วนผ้าทอที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าทั่วไปการผลิตจะทำในเชิงอุตสาหกรรม โดยมีบริษัทก้องเกียรติเท็กซ์ไทล์ เข้ามาช่วยในเรื่องของการผลิตผ้า ผลิตเส้นด้ายขึ้นมาจากการเปิดตัวทดลอง ได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติ

 

ปัจจุบัน ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังชุมชนในพื้นที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบทั้งในวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท พะเยา เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี