Joe Biden กลับมาเพ่งเล็งปัญหาการค้าแรงงานผิดกฎหมายในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลอีกครั้ง

by ThaiQuote, 28 มกราคม 2565

ในวันที่ 3 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา ประธานาธบิดี Joe Biden ได้ลงนามในประกาศมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์แห่งชาติ (The National Action Plan to Combat Human Trafficking) ฉบับปรับปรุงแก้ไข จัดทำโดย U.S.Trade Representative (USTR) แผนการดำเนินงานฉบับปรับปรุงนี้มุ่งพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาครัฐในประเทศคู่ค้าเพื่อติดตามและลงโทษการค้ามนุษย์ในเรือประมงและโรงงานผลิตอาหารทะเล USTR จะเพิ่มความพยายามในการกระตุ้นสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ให้ห้ามการนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากแรงงานถูกบีบบังคับ

นโยบายของประธานาธิบดี Biden ได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมการค้าอาหารทะเลในสหรัฐฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ National Fisheries Institute ซึ่งออกมาระบุว่า ปัญหาเรื่องแรงงานเป็นความวิตกกังวลสูงสุดของอุตสาหกรรมในปี 2022 และได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย การจัดทำกฎระเบียบและความรับผิดชอบของภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาการฝ่าฝืนด้านแรงงาน สร้างระบบการจ้างงานที่ยุติธรรมในระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล

ผู้นำเข้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ บางรายมีความเห็นว่า
1. แผนการดำเนินงานของสหรัฐฯ จะทำให้สินค้าอาหารทะเลจำนวนมากถูกส่งไปยังตลาดที่มีความต้องการนำเข้า แต่ขาดความโปร่งใสในการทำธุรกิจ เช่น จีน มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจไม่ตรงกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแผนฯ
2. U.S. Seafood Import Monitoring Program (SIMP) ที่บังคับให้การนำเข้าสินค้าอาหารทะเลต้องมีเอกสารระบุข้อมูลแหล่งประมงและอื่น ๆ เพื่อสามารถติดตามและตรวจสอบไปยังแหล่งที่มาได้ ปัจจุบันบังคับใช้กับ 13 สายพันธุ์สัตว์ทะเลที่คิดเป็นร้อยละ 40 ของการนำเข้าของสหรัฐฯ ควรจะขยายให้ครอบคลุมสัตว์ทะเลทุกสายพันธุ์ ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2021 Oceana องค์กรไม่หวังผลกำไรทำงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ได้ออกมาเรียกร้องให้ขยายโปรแกรม SIMP ให้ครอบคลุมสัตว์ทะเลทุกสายพันธุ์
3. แผนการดำเนินงานนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ที่เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าอาหารทะเลรายใหญ่

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2021 ประธานาธิบดี Joe Biden ประกาศให้เดือนมกราคม 2022 เป็นเดือนป้องกันการค้ามนุษย์แห่งชาติ (National Human Trafficking Prevention Month)

สำนักงานส่งเสริมการค้า นครลอสแอนเจลิสรายงานว่าประเทศไทยอยู่ในรายชื่อของ Bureau of International Labor Affairs, U.S. Department of Labor ว่ามีการใช้แรงงานถูกบีบบังคับในการผลิตปลา กุ้ง และเสื้อผ้า ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกเพ่งเล็งในแผนการดำเนินงานฉบับปรับปรุงนี้

อย่างไรก็ดี ความพยายามและความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่จะแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของไทยโปร่งใสมากขึ้น

สคต.ลอสแอนเจลิส ให้คำแนะนำว่า เพื่อป้องกันข้อกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานทาสในการผลิตสินค้า ซึ่งอาจะเป็นเหตุให้สินค้าถูกศุลกากรสหรัฐฯ ยึด (Withhold Release Order - WRO) ผู้ผลิตสินค้าอาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้งและปลาสด/แช่เยือกแข็ง ต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องมาตรฐานแรงงานที่ใช้ในการผลิตและการตรวจสอบระบบห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงแหล่งที่มาของสินค้า

ส่วนสถิติมูลค่านำเข้า (ล้านเหรียญฯ) อาหารทะเลของสหรัฐฯ ในภาพรวม (รหัสศุลกากรสหรัฐฯ HS03 และ HS16) ในปี 2021 มูลค่านำเข้าในช่วง 11 เดือนแรกสูงถึง 26,437 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.31 โดยแหล่งนำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ แคนาดา อินเดีย ชิลี อินโดนิเซีย และเวียดนาม โดยมีไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 9 โดยในปี 2021 มีมูลค่านำเข้า 1,072 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2020 คิดเป็นื14.57%