รัฐบาลเตรียมกู้เงิน 2-3 หมื่นล้านบาท แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง ด้านหอการค้าไทยชี้ยุบสภาไม่สะเทือน ศก.

by ThaiQuote, 10 กุมภาพันธ์ 2565

ก.พลังงานเตรียมกู้เงิน 2-3 หมื่นล้านบาท เข้ากองทุนน้ำมันเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซล แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง ในขณะที่หอการค้าไทยเห็นว่า ยุบสภาไม่สะเทือนเศรษฐกิจ

 

 

วันนี้ (10 ก.พ.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ชี้แจงกระทู้ถามสดของนายกิตติกร โลห์สุนทร ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย เรื่อง ปัญหาราคาค่าน้ำมันแพง ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจมีความล่มแหลมและอาจนำไปสู่วิกฤตได้ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรัฐบาลได้คำนึงถึงและตระหนักต่อการแก้ไขปัญหา ทั้งการใช้กองทุนน้ำมันเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซล โดยปัจจุบันใช้กองทุนไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท และยังเตรียมที่จะกู้เงินอีก 2-3 หมื่นล้านบาทเพื่อดำเนินการต่อ เบื้องต้นอยู่ในกระบวนการกู้เงิน และเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา สำหรับข้อเสนอแนะต่อการลดส่วนผสมของน้ำมันชีวภาพนั้น ที่ผ่านมาได้ลดลงแต่ไม่สามารถทำได้พรวดพราด เพราะจะกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ดีรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการใหม่ๆ เพื่อดูแลประชาชน

รมว.พลังงาน กล่าวว่า กรณีที่มีผู้ระบุว่าประเทศไทยมีราคาน้ำมันดีเซล มีราคาสูงถึงลิตรละ30บาท ถือว่าแพงที่สุด จากการค้นข้อมูลพบว่าหลายรัฐบาลมีราคาสูงเช่นเดียวกันและเมื่อเทียบกับ 8 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นบรูไน และมาเลเซีย ที่มีแหล่งพลังงานของตนเองและสามารถส่งออกได้ไม่จำกัด พบว่าประเทศไทยราคาขายปลีกหน้าสถานีบริหารอยู่ในอันดับที่ 6-7 ซึ่งเราไม่แพง ส่วนประเทศที่แพงที่สุดคือสิงคโปร์

สำหรับค่าไฟฟ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สั่งการให้พิจารณาในระยะสั้น เพื่อลดการนำเข้าแอลเอ็นจี ที่มีราคาแพง โดยใช้วิธีผลิตอื่น เช่น ขยายต่ออายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 ปี แม้กระทบสิ่งแวดล้อมแต่มีพื้นที่ไม่มาก รับซื้อไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มมากขึ้น โดยให้ร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

‘หอการค้า’ ชี้ยุบสภาไม่สะเทือนเศรษฐกิจ
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลว่า เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ในทางการเมือง ไม่ว่าจะมีการยุบสภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภาล่มบ่อย แต่เหตุการณ์ที่ดูไม่ปกติและเกิดก่อนเวลาอันควร ทำให้คนกังวลว่าเกิดอะไรขึ้น หากว่ามีการยุบสภาในไตรมาสที่ 1 จะไม่มีผลกระทบต่อเชิงลบต่อเศรษฐกิจมากนัก แต่คนจะติดตามว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล และดูความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลในด้านต่าง ๆ เพราะรัฐบาลรักษาการณ์ไม่สามารถทำอะไรได้มาก นอกจากมาตรการควบคุมดูแลโควิด ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลเองไม่มีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใช้พ.ร.ก.เงินกู้ แต่กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบประมาณ

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า “จุดน่ากังวลและสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าคือมีการชุมนุมนอกสภา การประท้วงทำให้เกิดความรุนแรง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่หลายคนไม่คาดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าม็อบปักหลักไม่มีความรุนแรง จะไม่มีความกังวล ไม่สะเทือนต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ ถ้าม็อบปักหลักกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจได้ คนจะลังเล ไม่กล้าลงทุน ทำให้เศรษฐกิจชะลอ ฟื้นตัวช้า ถ้าเป็นม็อบประท้วงจบใน 1 วัน หรือมีปะทะเล็กน้อย ไม่น่ามีผลเสถียรภาพรัฐบาลและยุบสภาได้”

กรณีที่รัฐมนตรีลาไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเพราะมีวาระพิจารณาอนุมัติสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็เป็นข้อสังเกตุได้ เป็นเรื่องปกติของการแสดงความเห็นหรือการหยุด ต่อให้ไม่มีสายสีเขียว ทุกเหตุการณ์มีผลหมดต่อความกังวลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ไม่ว่าการแยกตัวของส.ส. พรรคพลังประชารัฐไปอยู่พรรคอื่น การประชุมสภาที่ล่มบ่อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ทำให้เกิดดวามสุ่มเสี่ยงทางเสถียรภาพทางการเมืองได้ เพราะคนไม่มั่นใจ ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมีอายุยืนยาวแค่ไหน ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเศรษฐกิจหดหายไป แต่ไม่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาก ตราบใดที่ ทุกอย่างยังยืนอยู่ในกลไกสภา.