พาณิชย์-จุฬาฯ หนุนงานวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากหิ้งสู่ห้าง ชี้เป้าพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ก่อนวางตลาด

by ThaiQuote, 21 เมษายน 2565

รมช.พาณิชย์ เป็นประธานเซ็น MOU ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ นักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ

 

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ นักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย โดยใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ

สำหรับแนวทางความร่วมมือนั้น กรมฯ จะสนับสนุนนักวิจัย นักประดิษฐ์ นิสิต และผู้ประกอบการไทยในเครือข่ายของจุฬาฯ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ และจะช่วยจัดทำรายงานวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้รู้แนวโน้มเทคโนโลยีโลก ทิศทางการพัฒนาสินค้า และสามารถนำมาใช้ในการวิจัย พัฒนา และประดิษฐ์คิดค้นผลงานทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

นอกจากนี้ จะช่วยสนับสนุนผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นแล้วในเชิงพาณิชย์ โดยมีผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่โดดเด่น เช่น นวัตกรรมเคลือบพื้นผิวทุกชนิดที่มีความต้านทานการกัดกร่อน, การพัฒนาคุณภาพน้ำบาดาลให้ดื่มได้, เท้าเทียมช่วยเหลือคนพิการในการเคลื่อนไหว และนาโนแคลเซียมคาร์บอเนตในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางช่วยปกป้องผิว เป็นต้น

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า จุฬาฯ มีผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด อีกทั้งมีเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้มแข็งกว่า 300 บริษัท โดยด้วยความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้มีการคิดค้นทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ๆ แต่ยังจะช่วยต่อยอดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น

ด้านนายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา นักวิจัยมักวิจัยแต่สิ่งที่ตนต้องการวิจัย ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาด แต่ความร่วมมือครั้งนี้ กรมฯ จะเป็นผู้แนะนำด้านการตลาด ความต้องการของบริโภค ซึ่งจะทำให้สามารถวิจัย และพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

"เป็นการนำงานวิจัยจากหิ้งมาสู่ห้าง ที่สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าได้จริง โดยปัจจุบัน มีงานวิจัยจำนวนมากของจุฬาฯ ที่มีนักลงทุนสนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น ที่ฉีดพ่นวัคซีนทางจมูก เป็นต้น" อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว.