“โนรู” เข้าไทยแล้ว 67 จังหวัดอ่วม ฝนตกหนักถึงหนักมาก 3 วัน กอนช. เตรียมพร่องน้ำล่วงหน้า

by ThaiQuote, 28 กันยายน 2565

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์พายุ “โนรู” เข้าไทยคืนนี้ ส่งผลให้ในวันที่ 28 – 30 ก.ย. 65 ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก กอนช.คาดพายุ "โนรู" กระทบ 38 จ. จับตาน้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่ เตรียมพร่องน้ำล่วงหน้า

 

วันที่ 28 กันยายน 2565 เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยลักษณะอากาศ “พายุ โนรู” ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 28 กันยายน 2565

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (28 ก.ย. 65) พายุโซนร้อน “โนรู” บริเวณแขวงสาละวัน ประเทศลาว มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 20 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี หรือที่ละติจูด 15.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 105.8 องศาตะวันออก โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างบริเวณอำเภอโขงเจียมจังหวัดอุบลราชธานีในช่วงเย็นวันนี้ และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งให้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

ข้อควรระวัง

ในวันที่ 28 – 30 ก.ย. 65 ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงในวันที่ 28 ก.ย. – 3 ต.ค. 65 ไว้ด้วย

 

 

กอนช. เตรียมพร่องน้ำล่วงหน้า

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์พายุ "โนรู" ร่วมกับ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า จากการติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น "โนรู" อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามที่เมืองฮานอยในวันนี้เวลา 04.00 น. และเคลื่อนผ่านประเทศลาวตอนล่าง ก่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทยบริเวณ จ.อำนาจเจริญ และอุบลราชธานีในวันพรุ่งนี้ (29 ก.ย. 65) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ คาดว่าจะมีผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ รวม 38 จังหวัด บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมการรับมือล่วงหน้าให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาเพิ่มเติมแม้จะเป็นข้อจำกัดค่อนข้างมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนที่ตกมากระจายตัวในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น การตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เพื่อบูรณการบริหารจัดการน้ำการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณฝน โดยมีการเตรียมการพร่องน้ำเป็นการล่วงหน้าเพื่อรองรับน้ำ เช่น เขื่อนป่าสักฯ มีที่ว่างรับน้ำได้ประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์รับน้ำได้อีก 360 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาทำให้มีช่องว่างในการรับน้ำได้มากขึ้น การเตรียมการรับน้ำเข้าทุ่งต่างๆ ในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างในกรณีที่มีปริมาณน้ำมาก และมีการประสานแจ้งประชาสัมพันธ์การระบายน้ำและการเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์น้ำภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุ "โนรู" เข้าฝั่งไทย ลุ่มน้ำมูลล่าสุด พบว่า มีน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ได้แก่ อ.พิมาย อ.จักราช จ.นครราชสีมา, อ.จอมพระ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์, อ.ห้วยทับทัน อ.เมืองศรีสะเกษ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ, อ.เมืองอุบลราชธานี อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี และทุกสถานีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ลุ่มน้ำชีปริมาณน้ำล้นตลิ่งเกือบตลอดแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น อ.เมืองโกสุมพิสัย อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม, อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด, อ.บ้านใหม่ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

ส่วนสถานการณ์น้ำภาคกลางล่าสุดในลุ่มน้ำป่าสักมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ต้นน้ำป่าสักบริเวณ อ.หล่มสัก อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และท้ายน้ำมีปริมาณน้ำเกินความจุลำน้ำอยู่เล็กน้อยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำบริเวณคลองโผงเผงแม่น้ำน้อยแม่น้ำเจ้าพระยาแนวโน้มระดับน้ำยังทรงตัว

อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาหากมีการเพิ่มขึ้น กอนช.ได้เน้นย้ำกรมชลประทานให้มีการแจ้งเตือนประชาชนท้ายน้ำล่วงหน้า รวมถึงระดับน้ำที่คาดว่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้ประชาชนยกของขึ้นที่สูงหรือเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน หรืออพยพไปยังจุดที่ปลอดภัยได้ล่วงหน้า

สำหรับพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่หลายฝ่ายมีข้อห่วงกังวลว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์ปี 2554 นั้น แม้ว่าอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ แต่จะไม่เหมือนกับปี 54 ที่ปัญหาน้ำท่วมเกิดจากพายุเข้าประเทศไทยถึง 5 ลูก และมีปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์มากถึง 3,935 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) และระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาถึง 3,709 ลบ.ม./วินาที (อัตราการะบายสูงสุด 2,840 ลบ.ม./วินาที) แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,100 ลบ.ม./วินาที และสถานีวัดน้ำ C.29A ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,738 ลบ.ม./วินาที จากความจุ 3,500 ลบ.ม./วินาที ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะมีน้ำเหนือหลากเข้า กทม.และปริมณฑล เหมือนปี 2554

ส่วนแนวโน้มในระยะใกล้นี้ยังไม่มีสัญญาณพายุเข้าประเทศไทย แต่ กอนช.จะเฝ้าติดตามสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนได้ทันที แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ถึงสถานการณ์น้ำในปีนี้เนื่องจากปีนี้ต้องยอมรับว่าปีนี้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติ โดยในเดือน ต.ค.จะปริมาณฝนมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จากนั้นช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ปริมาณฝนจะตกมากในพื้นที่ภาคใต้ตามลำดับ.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ทุกฝ่ายสั่งเตรียมพร้อมตั้งรับ“ พายุโนรู”ที่คาดว่าจะเข้าไทยวันพรุ่งนี้
https://www.thaiquote.org/content/248276

ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม
https://www.thaiquote.org/content/248279

ไทยเบฟลงทุนเวียดนาม ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดระดับภูมิภาค CEO ต้องการให้ฮานอยขายหุ้น 36% ใน Sabeco
https://www.thaiquote.org/content/248278